เมกะโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาลงทุนหรือยัง?

ในเวลานี้หากเราได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง คงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมืองที่เคยอบอวลไปด้วยหมกควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ท่อไอเสียรถยนต์ ท้องฟ้าที่คนในเมืองแทบจะไม่เคยสัมผัสถึงความสดใส มาถึงวันนี้ เพื่อเตรียมตัวให้ชาวโลกมั่นใจว่าพร้อมเป็น "เจ้าภาพ"ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รัฐบาลจีนยอมทุ่มงบประมาณมหาศาล และออกมาตรการเข้มงวดขั้นเด็ดขาดในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม จัดการกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด รวมทั้งจัดการปฏิรังสรรค์เมืองให้น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้พร้อมต้อนรับนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งเวลานี้ มองมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีกับประชาชนในเมืองนั้น เพราะได้รับสิ่งดีตามไปด้วย แม้จะเป็นเพียง "ผลพลอยได้" จากการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อชื่อเสียงของประเทศ แต่มองอีกมุมหนึ่งกลับอดสงสารประชาชนที่นั่นไม่ได้ เพราะลองคิดดู หากไม่มีกีฬาโอลิมปิคมาเป็นตัวบีบบังคับ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังคงไม่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด ปลอดภัย นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐ
ย้อนกลับมาดูในประเทศไทย พิจารณาเฉพาะกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของเรา คงไม่ต้องบอกว่า ปัญหาที่คนกทม.ต้องเผชิญอยู่ นอกเหนือจากปัญหาจราจรติดขัดแล้ว ปัญหาที่ตามมาติดๆ นั่นคือ ปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป็น มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันที่เกินจากยานพาหนะ สถานที่ก่อสร้าง ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และภัยร้ายที่คนจำนวนไม่น้อยคาดไม่ถึง นั่นคือ ควันพิษที่เกิดจากเมรุเผาศพกว่า 500 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มาตรฐานประชาชนกรุงเทพฯ แทบจะไม่เคยได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ไม่ต่างจากประชาชนที่ปักกิ่งเลย
ไม่เพียงเท่านี้ เรายังคงต้องอยู่ท่ามกลางปัญหาน้ำเน่าเสียที่ กทม.ไม่สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน ปัญหาขยะล้นเมืองที่ยังคงล้มเหลวในการให้ประชาชนคัดแยกขยะ และยังไม่สามารถทำลายขยะหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยะยังคงกองทับถมกันเป็นภูเขา ขยะพิษยังคงปะปนอยู่กับขยะธรรมดาที่เราพบเห็นได้ทั่วไป
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ไม่เพียงมีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ยังส่งผลให้เมืองหลวงของเราเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
ผมคิดว่า หากเราเห็นว่า สิทธิในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราจำเป็นต้อง "กล้า" ที่จะลงทุนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้เป็น เมกะโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะในหลายเรื่องต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี ต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนเตาเผาศพมาใช้เตาเผาที่ได้มาตรฐาน ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม จะต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่ำแห่งละ 60 ล้านบาท หากต้องเปลี่ยน 500 วัด จะต้องใช้เงินสูงถึง 3,000 ล้านบาท หรือหาก กทม.ต้องการบำบัดน้ำเสียให้ครบทุก 50 เขต จะต้องสร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูงเพิ่มอีกหลายแห่ง ใช้งบประมาณอีกหลายหมื่นล้านบาท และหากต้องบำบัดทั่วประเทศคงใช้เงินมหาศาลกว่าหลายเท่าตัว
มิพักจะกล่าวถึง หากเราต้องการให้เมืองสะอาด ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ด้วยการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้อง "ปฏิวัติระบบการจัดการขยะ" เพื่อเข้าสู่ระบบ zero waste คือ ใช้ประโยชน์จากขยะอย่างคุ้มค่า ไม่มีตกค้าง ไม่ทิ้งของเสียสู่สภาพแวดล้อม นั่นหมายความว่า เราไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการหาที่ทิ้งขยะใหม่ ๆ แต่ต้องคิดทั้งกระบวนการว่า ขยะแต่ละประเภทนี้จะนำไปใช้อะไร และจะต้องลงทุนทำอะไรเพิ่มบ้าง ต้องเปลี่ยนระบบการจัดเก็บและเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนอย่างไร เช่น ขยะเปียกต้องมีคำตอบว่าจะนำไปใช้ทำอะไรบ้าง และจะต้องมีโรงงานใดรองรับทั้งระบบจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ ขยะรีไซคเคิลได้จะต้องมีคำตอบว่าจะนำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น ทุกผลิตภัณฑ์ที่กทม.ต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นถังขยะ ถุงขยะ เก้าอี้ กระถางต้นไม้ ต้องมาจากขยะที่รีโซค์เคิลเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องคิดใหม่กันทั้งระบบ แน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ในประเทศที่เห็นคุณค่าประชาชน ในเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ผมเห็นว่า ไม่มีที่ใดไม่กล้าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจัง ไม่เพียงสร้างภาพฉาบฉวย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและกทม.คงมีความตั้งใจที่จะจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการกล้าที่จะประกาศเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องรอแรงกดดันจากภายนอก เช่นเดียวกับรัฐบาลจีนได้รับในเวลานี้
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-03-07