Stagflation?น่ากลัวอย่างไร?

ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มหนึ่งได้เขียนภาพการ์ตูนที่แสดงถึงการตอบปัญหาเศรษฐกิจไว้สองภาพ คำถามก็คือ ldquo;เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำจะทำอย่างไร?rdquo; ภาพแรก ตัวการ์ตูนบอกว่า ldquo;ออมเงินซิจะได้ไม่ลำบากrdquo; แต่ภาพที่สอง ตัวการ์ตูนตัวเดียวกันกลับพูดว่า ldquo;ต้องช่วยกันใช้เงินเยอะ ๆ จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจrdquo;

คำตอบทั้งสองดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่เป็นคำตอบที่ถูกทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่า เราเลือกคำตอบได้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือไม่?

ภาพการ์ตูนข้างต้นเป็นตัวอย่างที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ซึ่งนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เกรงกันว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเข้าสู่ภาวะชะงักงัน หรือ stagflation ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะแก้ไขได้ยากมาก เพราะไม่แน่ใจว่าจะใช้คำตอบใดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด

Stagflation ทำไมจึงน่ากลัว?

ldquo;Stagflationrdquo; เป็นการรวม 2 แนวคิดเข้าด้วยกัน คือ stagnation ซึ่งหมายถึง ภาวะเศรษฐกิจซบเซา และ inflation หรือเงินเฟ้อ (stagflation = stagnation + inflation) อาการของเศรษฐกิจในภาวะ stagnation จึงมี 2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจซบเซา ซึ่งอาจสะท้อนออกมาทางอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภาวะที่ผิดปกติ และไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ซึ่งระบุว่า กลไกตลาดจะมีปัญหาการขาดเสถียรภาพในตัวเองเสมอ เพราะในยามที่เศรษฐกิจขยายตัว (อัตราการว่างงานต่ำ) อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว (อัตราการว่างงานสูง) อัตราเงินเฟ้อจะต่ำ ดังนั้นเป้าหมายการว่างงานในระดับต่ำและอัตราเงินเฟ้อต่ำจึงมีความขัดแย้งกันเสมอ ผู้บริหารเศรษฐกิจจึงต้องเลือกเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง แต่ในภาวะ stagflation กลับสูญเสียทั้งสองเป้าหมายไปพร้อม ๆ กัน

Stagflation เป็นภาวะที่เกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน (supply shock) ส่งผลทำให้ผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว หรืออุปทานมวลรวมลดลงทันที ซึ่งไม่ได้เกิดจากกลไกราคาหรือระดับราคาสินค้าที่ลดลง แต่เป็นการลดลงของอุปทานมวลรวม ณ ทุก ๆ ระดับราคาสินค้า เมื่อผู้ผลิตผลิตสินค้าลดลงจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

ในอดีต stagflation เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกายุคทศวรรษ 1970 อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 12 อัตราว่างงานสูงเกือบร้อยละ 9 ซึ่งสาเหตุของปัญหาดังกล่าวมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นไปกว่าร้อยละ 400 จากราคาเดิม สำหรับในประเทศไทยเคยเกิดภาวะ stagflation เมื่อปี พ.ศ.2523 ในเวลานั้น อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกว่าระดับร้อยละ 10 เนื่องจากราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นกว่าร้อยละ 40 และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

แก้ปัญหา Stagflation ใช้นโยบายอะไรดี?

หากจำแนกประเภทของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในแง่ทฤษฎีสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ นโยบายการบริหารด้านอุปสงค์ (Demand management macroeconomic policy) ประกอบด้วย นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ส่วนนโยบายด้านอุปทาน (Supply-side macroeconomic policy) ประกอบด้วยนโยบายการคลัง เฉพาะที่เกี่ยวกับภาษีและกฎระเบียบต่าง ๆ และการเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตทั้งแรงงานและทุน

นโยบายด้านอุปสงค์
สามารถจัดการได้ผลรวดเร็ว จึงสามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนได้ แต่ข้อเสีย คือเกิดภาวะได้อย่างเสียอย่าง (trade off) ระหว่างเป้าหมายด้านการเติบโตและเสถียรภาพ การแก้ปัญหาของตัวการ์ตูนข้างต้นด้วยการออมหรือใช้จ่ายเงินจัดอยู่ในนโยบายด้านอุปสงค์เช่นกัน

ส่วนนโยบายด้านอุปทานมักให้ผลระยะยาว ทำให้เกิดการเติบโตแบบยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการรักษาเสถียรภาพ จึงเป็นการแก้ปัญหา stagflation ที่ต้นเหตุของปัญหา เนื่องจาก stagflation เกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน ส่วนผลเสียของนโยบายด้านอุปทานคือ ไม่สามารถจัดการและแก้ปัญหาเร่งด่วนได้

นโยบายทั้งสองด้านนี้ จึงมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน จึงจำเป็นที่รัฐบาลควรเลือกใช้นโยบายทั้งสองด้านอย่างเหมาะสม และควรใช้นโยบายทั้งสองด้านเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวไปด้วยกัน

เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงันหรือยัง?

ภาวะราคาน้ำมันที่กดดันเงินเฟ้ออยู่ในปัจจุบัน ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ
stagflation คล้ายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นในยุควิกฤตการณ์น้ำมันทศวรรษ 1970 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว พร้อม ๆ กับเกิดปัญหาเงินเฟ้อ

เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่ายังห่างไกลจาก stagflation เพราะครึ่งปีแรกของปีนี้ อัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากครึ่งแรกของปี 2549 ที่เคยขยายตัวร้อยละ 5.0 แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้ ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ คือไม่เกินร้อยละ 2 ส่วนอัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมที่อยู่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศพื้นตัวไม่หวือหวา ทำให้ระดับราคาสินค้าไม่สูงขึ้นมากนัก และถึงแม้ว่ามีแรงกดดันจากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังช่วยบรรเทาผลกระทบลงไปได้พอสมควร

อย่างไรก็ตาม สำหรับระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางต่อการเกิดภาวะ stagflation มาก เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนไม่ฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐอาจมีความล่าช้าเพราะรัฐบาลหน้าจะเป็นรัฐบาลผสม

ประเทศไทยจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด stagflation หากมีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจสูงถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหากเกิดสงคราม และการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม ประกอบกับปัญหาซัพไพร์มที่จะแสดงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

พรรคการเมืองต่าง ๆ จึงต้องตอบให้ได้ว่า ldquo;จะมีนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าวนี้อย่างไร?rdquo;

admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์เม็งราย
เมื่อ: 
2008-01-16