รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของรัฐบาลใหม่คือใคร?


* ที่มาของภาพ- http://i55.photobucket.com/albums/g157/Renke_sm/sm4-2.jpg

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนับเป็นหนึ่งในขุนพลที่จะต้องทำงานใกล้ชิดมากเป็นพิเศษกับแม่ทัพใหญ่คือนายกรัฐมนตรี งานของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นี้มีขอบข่ายความรับผิดชอบที่กว้างขวางพอสมควร เพราะองค์กรที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีมีหลากหลาย ทั้งเรื่องสื่อสารมวลชน การพัฒนาระบบราชการ ความมั่นคง การคุ้มครองผู้บริโภค การงบประมาณ กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การวางแผนพัฒนาประเทศ เป็นต้น แม้ว่า งานบางอย่างก็ดูจะไม่เกี่ยวกันเลย และงานของบางหน่วยงานในความรับผิดชอบมีลักษณะเป็นนามธรรมสูง วัดความสำเร็จได้ยากกว่ากระทรวงด้านเศรษฐกิจที่มีตัวชี้วัดที่ค่อนข้างชัดเจน แต่งานเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลและประเทศ ตัวอย่างเช่น กรมประชาสัมพันธ์และ อสมท. มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารความคิดและข้อมูลต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน ในขณะที่สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติก็มีความสำคัญอย่างสูงต่อเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ

ด้วยลักษณะเฉพาะของเนื้องานในความดูแลที่มีความหลากหลายแตกต่างจากกระทรวงอื่นที่มีลักษณะเฉพาะมากกว่า ทำให้เราต้องการรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติเฉพาะเป็นพิเศษ ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไม่เพียงจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและกำกับองค์กรภายใต้การดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องมีความรู้ในหลากหลายสาขา มีความเข้าใจในเนื้องานของหน่วยงานที่รับผิดชอบพอสมควร สามารถให้แนวทางในการทำงานแก่แต่ละหน่วยงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นระบบ สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลและผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จได้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ควรจะเป็นผู้ที่รอบรู้ในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตงานที่ตนเองรับผิดชอบ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญลงลึกด้านใดด้านหนึ่ง แต่ควรจะมีความรู้สหวิทยาการที่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงของงานด้านต่าง ๆ และสามารถให้ทิศทางอย่างมีกลยุทธ์ได้ ตัวอย่างเช่น ภารกิจที่สำคัญของรัฐบาลคงไม่พ้นเรื่องของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สามารถใช้สื่อสารมวลชนมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ เช่น การพัฒนารายการโทรทัศน์หรือวิทยุที่เป็นภาษาถิ่น เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของทางราชการได้เข้าถึงคนในพื้นที่
ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ยังต้อเป็นนักประสานที่สามารถทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ งานหลายด้านของสำนักงานนายกเป็นงานที่ตัดผ่าน (cross-cutting)งานในกระทรวงอื่น ๆ เช่น เรื่องของการปฏิรูปกฏหมายหรือการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งย่อมต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากกระทรวงอื่น ๆ ด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ต้องเป็นนักบริหารและนักยุทธศาสตร์ด้วย กล่าวคือ มีความเข้าใจในระบบการทำงานและวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละองค์กร สามารถจะให้ทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่แปรตามและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ต้องเป็นผู้นำให้เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงในแต่ละหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่ต้องทำให้หน่วยงานเหล่านี้ทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ หน่วยงานในการดูแลของสำนักนายกล้วนแต่มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน หากขาดแนวทางที่ชัดเจนจากรัฐมนตรีจะทำให้ขาดเอกภาพในเชิงทิศทางได้ โดยนัยยะนี้ อาจหมายความ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ต้องเป็นที่ประนีประนอมได้ มีความยืดหยุ่นสูง แต่ไม่ทิ้งหลักการ และหลักการที่สำคัญคือความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และความเป็นกลาง
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร ท่านต้องลงไปคลุกคลีกับหน่วยงานในการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ใช่แทรกแซงการทำงานขององค์กรภายใต้เหล่านั้น เช่น การที่ไม่เข้าไปแทรกแซงหรือบิดเบือนข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ เพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือการที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการทำงานให้มาก เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน
คุณสมบัติที่ได้กล่าวมาข้างต้น น่าจะทำให้การบริหารจัดการงานของสำนักนายกรัฐมนตรีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และผลักดันให้งานของสำนักนายกฯ ให้บรรลุเป้าหมายสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลอย่างสร้งสรรค์ด้วย
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่25 มกราคม 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-01-28