คุณสมบัติรัฐมนตรี ศธ. สมัยหน้า
ldquo;การศึกษาrdquo; เป็นงานที่สำคัญยิ่งของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและการดำเนินนโยบายการศึกษาได้อย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ ความสำเร็จนี้คือ การขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง พัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ การใช้ทรัพยากรที่จำกัดได้อย่างคุ้มค่า การพัฒนาแนวทางเชิงรุกไว้รองรับสภาพการณ์อนาคตที่จะมาถึง รวมถึงการพัฒนาระบบการบริหาร โครงสร้าง และบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความก้าวหน้าได้เท่าการเปลี่ยนแปลง บทความนี้จึงเป็นการวิเคราะห์คุณลักษณะที่จำเป็นของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ศธ. ดังนี้
มีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา ที่ผ่านมาการดำเนินงานของนักการเมืองไทยโดยเฉพาะผู้ดำรงรัฐมนตรีจำนวนไม่น้อย เน้นสร้างผลงานระยะสั้นช่วงที่ดำรงตำแหน่ง แต่ขาดวิสัยทัศน์ระยะยาวที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ยิ่งเป็นการพัฒนาด้านการศึกษาจำเป็นต้องได้รัฐมนตรี ศธ. ที่มีวิสัยทัศน์ไกล เพราะงานด้านการศึกษาต้องใช้เวลานานในการวางรากฐาน การดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติจึงจะเกิดผล ดังนั้นคุณสมบัติสำคัญอันดับแรกของรัฐมนตรี ศธ. คือมีวิสัยทัศน์ไกลไปในอนาคต โดยกำหนดภาพพึงประสงค์ว่าการศึกษาไทยควรไปในทิศใด และวางแนวทางผลักดันให้ไปสู่วิสัยทัศน์นั้น รวมถึงผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์นั้นให้สำเร็จ แม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี ศธ. ก็ยังมีระบบและกลไกขับเคลื่อนให้การพัฒนาการศึกษาไทยไปถึงวิสัยทัศน์นั้นได้
สามารถบริหารการศึกษาเชิงกลยุทธ์ ภายใต้ทรัพยากรการศึกษาที่จำกัด แต่การศึกษาไทยยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไป ผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ศธ. จึงควรเป็นผู้ที่มีความสามารถบริหารเชิงกลยุทธ์ คือ สามารถกำหนดแนวทางพัฒนาการศึกษาที่ดีที่สุด ภายใต้สภาวะต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบ และภายใต้ความจำกัดทางทรัพยากร โดยกำหนดเป็นขั้นตอนแต่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์หรือเมื่อมีอุปสรรค เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อาทิ นโยบายที่ ศธ. ต้องทำให้เกิดขึ้นจริงตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 คือ การจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ภายใต้งบประมาณที่จำกัดนี้ คงเป็นการยากที่จะทำได้ ดังนั้นรัฐมนตรี ศธ. ต้องหาทางออกให้กับนโยบายนี้ โดยจัดเตรียมกลไกบริหารจัดการที่นำสู่ภาคปฏิบัติได้ รวมถึงสามารถจัดหาและระดมทรัพยากรได้เพียงพอ และดำเนินจัดการศึกษาได้มีคุณภาพ
สามารถบริหารและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเด็นการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา มักใช้การประวิงเวลา เลื่อนการตัดสินใจ หรือปัดภาระให้รัฐบาลชุดต่อไป โดยไม่ลงมือแก้ไขหรือเปิดโต๊ะเจรจาอย่างจริงจัง เช่น ประเด็นปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย การกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเออร์ลี่รีไทร์ครู การสอบในระบบแอดมิสชั่นส์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายปัญหาที่เกิดในกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น การเออรี่รีไทร์ครู การประเมินวิทยฐานะของครู ฯลฯ ซึ่งยังไม่ได้รับความกระจ่าง เกิดการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย โดยรอวันที่จะประทุอีกครั้ง ดังนั้นรัฐมนตรี ศธ. คนใหม่ ไม่เพียงต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้ว และยังต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ศธ. ควรมีความสามารถบริหารปัญหาความขัดแย้ง สามารถวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สามารถสื่อสารและประสานประโยชน์ได้ดี มีความอดทน และยุติธรรม เนื่องด้วยความขัดแย้งมักเกี่ยวข้องกับผลได้ผลเสียของคู่กรณีที่มีความขัดแย้ง
สามารถสร้างภาคีเครือข่าย การจัดการศึกษาเป็นภารกิจสำคัญที่ไม่สามารถฝากให้เป็นภาระของ ศธ. เพียงกระทรวงเดียว แต่จำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยหรือองค์กรภายนอกที่เชี่ยวชาญบางด้านเข้าร่วม อาทิ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการศึกษา หรือชุมชน ฯลฯ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ศธ. ควรเป็นผู้มีทัศนะที่เห็นความสำคัญในการทำงานเป็นเครือข่าย มีความสามารถสร้างกลไกและพัฒนาภาคีเครือข่ายที่เป็นรูปธรรมจากองคาพยพต่าง ๆ โดยเป็นภาคีร่วมมือระดับเข้มข้นเกิดผลจริง มิใช่เป็นเพียงเครือข่ายในนาม
มีความ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ปัจจุบันสังคมคาดหวังการบริหารแบบธรรมาภิบาล โดยเฉพาะ ศธ. เป็นกระทรวงที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนมากที่สุด ดังนั้น การสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชนจึงสำคัญ ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ศธ. จึงต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ชัดเจนด้านการใช้จ่ายในการจัดทำโครงการต่าง ๆ และเปิดกว้างต่อการตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ในด้านการจัดการศึกษา
การคัดสรรผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ศธ. ในรัฐบาลหน้า จำเป็นยิ่งที่จะต้องสรรหาผู้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารงาน และมีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการศึกษา ประการสำคัญจำเป็นต้องเป็นผู้มีภาวะผู้นำระดับสูง โดยสามารถนำทิศทางและบริหารข้าราชการครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และภาคีอื่นที่มีส่วนร่วมจัดการศึกษา ให้เกิดความเชื่อมั่น สนองตอบต่อนโยบาย และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอย่างเต็มกำลัง
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ:
2007-12-16