เขียนบทพูดให้จูงใจ

หากเราจำเป็นต้องพูดเพื่อเป้าหมายคือ ldquo;จูงใจrdquo; ผู้ฟัง ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ นั่นคือ การเขียนบทพูดให้น่าสนใจ

เริ่มต้นด้วยการตอบคำถามให้แจ่มชัดในความคิดก่อนว่าldquo;เราต้องการบรรลุเป้าประสงค์ใดจากผู้ฟัง?rdquo; และldquo;ถ้าเราต้องการบรรลุเป้าประสงค์นั้น เราจะวางแผนการสื่อสารด้วยคำพูดของเราอย่างไร?rdquo;เป้าหมายที่แจ่มชัดจะช่วยให้เราวางแผนอย่างรอบคอบว่า จะทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมายนั้น

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้บทพูดของเราจูงใจนั้น จะต้องประกอบไปด้วย ประเด็นนำเสนอที่ชัดเจน คนฟังรู้ทันทีว่าเราต้องการพูดอะไร การดำเนินเรื่องที่มีเหตุมีผล ดึงดูดความสนใจ และที่ขาดไม่ได้คือ อารมณ์ของเราในขณะที่พูดควรเป็นเช่นไร เพื่อเป็นส่วนผสมที่จูงใจอารมณ์ของผู้ฟังให้คล้อยตาม

โดยส่วนใหญ่แล้ว เราอาจแบ่งเนื้อหาที่เราต้องการพูดออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก คือ ส่วนเริ่มต้นหรือส่วนนำ ในส่วนนี้ควรกล่าวถึงหัวข้อของเนื้อหาที่เราจะพูด เพื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าเรากำลังจะกล่าวถึงเรื่องใด ขณะเดียวกันเป็นส่วนที่ต้องดึงดูดคนฟัง สร้างความประทับใจให้คนฟังติดตามสิ่งที่เราจะพูด จึงควรมีลูกเล่นโดยอาจเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องขำขัน เรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้พูด เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ประวัติหรือข้อคิดคำคมของบุคคลสำคัญ หรือตัวเลขสถิติที่น่าสนใจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องมีความน่าสนใจ ดึงดูดใจ และที่สำคัญต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องที่เราจะกล่าวถึงต่อไปอย่างกลมกลืน

ส่วนที่สอง
คือ ส่วนเนื้อหาที่เราต้องการสื่อสาร ในส่วนนี้เราจำเป็นต้องพูด ldquo;เข้าประเด็นrdquo; ไม่ออกนอกเรื่อง ไม่อธิบายเยิ่นเย้อ แต่ต้องพยายามจูงใจผู้ฟังให้เห็นคล้อยตามในสิ่งที่เราพูด ในเหตุผลที่เรานำเสนอให้มากที่สุด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมอย่างดีว่า เราต้องการพูดอะไร ควรใช้เหตุผลข้อเท็จจริงอย่างไรจึงน่าเชื่อถือ ควรใช้ภาษาอย่างไร ควรพูดด้วยอารมณ์อะไร จังหวะน้ำเสียง สีหน้าท่าทางควรเป็นอย่างไร เพื่อให้สิ่งที่เราพูดออกไปนั้นแตะต้องใจผู้ฟังมากที่สุด

ข้อควรจำในการกล่าวจูงใจ เราควรสื่อสารความจริงด้วยความจริงใจ การอ้างเหตุผล สถิติข้อเท็จจริง ควรอ้างแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือประกอบด้วย ไม่ควรพูดลอย ๆ อย่างไม่มีหลักฐาน จะทำให้สิ่งที่เราพูดขาดน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ และอาจทำให้เราเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจได้

ที่สำคัญเราจำเป็นต้องลำดับเนื้อหาให้ต่อเนื่อง ตามหัวข้อที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน ต้องระวังไม่ให้คนฟังรู้สึกเบื่อหน่าย ดังนั้น จึงควรแทรกเนื้อหาที่สนุกสนาน หรือเรื่องเล่าที่น่าสนใจประกอบระหว่างทาง แต่ต้องไม่มากเกินไปจนออกนอกประเด็น

ส่วนที่สาม ส่วนสรุป ควรเป็นการตอกย้ำอีกครั้งถึงสิ่งที่เราพูดมาทั้งหมด เพื่อดึงผู้ฟังให้ชัดเจนในประเด็นที่นำเสนอ มุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฟังตัดสินใจว่า เห็นด้วยกับเรา เชื่อมั่นในสิ่งที่เราพูด แต่ข้อควรจำที่สำคัญคือ เราควรสรุปสิ่งที่เราพูดไปให้สั้นที่สุด เพื่อมิให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย หรืออาจสรุปด้วยการยกตัวอย่าง ข้อคิด คำคม หรือตั้งคำถามทิ้งท้ายที่น่าสนใจก็ได้

ในการพูดเพื่อจูงใจนั้นเปรียบเหมือนการแสดง ผู้พูดนั้นไม่เพียงแสดงออกด้วยถ้อยคำ การใช้ภาษาที่สละสลวย เหตุผลที่จูงใจ แต่ยังต้องผสมผสานไปพร้อมกับอารมณ์ สีหน้าและท่าทางประกอบที่สามารถจูงใจผู้ฟังให้คล้อยตามได้มากที่สุด

admin
เผยแพร่: 
งานวันนี้
เมื่อ: 
2007-12-18