ลดการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสถานศึกษาหลายครั้ง ซึ่งเป็นทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนด้วยกัน อาทิ การทำร้ายร่างกาย การตั้งแก๊งข่มขู่เพื่อน และความรุนแรงระหว่างครูกับนักเรียน อาทิ ทำโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง และทำร้ายจิตใจผ่านคำพูดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลายฝ่ายต้องการหาทางยุติ
หากจะกล่าวถึงสาเหตุของความรุนแรงในสถานศึกษา มีด้วยกัน 2 สาเหตุหลัก คือ

สาเหตุเด็กก่อความรุนแรง:
ครอบครัว เกม สื่อมวลชน ผู้เรียนที่ก่อปัญหาความรุนแรงหรือกระทำผิด ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ครอบครัวเลี้ยงดูแบบลงโทษและแบบเผด็จการ ครอบครัวที่มีความขัดแย้ง ซึ่งจะทำให้เด็กจะเครียด มองโลกแง่ร้าย ก้าวร้าว ฯลฯ นอกจากนี้ เกมคอมพิวเตอร์และสื่อมวลชนยังเป็นปัจจัยสำคัญ ข้อมูลจากการโครง Child Watch สถาบันรามจิตติ สำรวจพฤติกรรมเยาวชนไทยพบว่า เด็กในโรงเรียนร้อยละ 10 หรือ ประมาณ 7 แสนคน มีพฤติกรรมก่อความรุนแรง ตั้งตัวเป็นแก๊งข่มขู่ทำร้ายเพื่อน ส่วนหนึ่งมาจากเกมคอมพิวเตอร์ ละคร และภาพยนต์ที่มีเนื้อหารุนแรง

ผลการศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน เมื่อปี 2549 ของโครงการส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองสุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั่วประเทศ พบว่า มีเด็กจำนวนร้อยละ 68.6 ถูกเพื่อนรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง หรือมากกว่า และร้อยละ 20 ถูกรังแกสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ในลักษณะของการด่า กลั่นแกล้ง แย่งสิ่งของ ข่มขู่ และทำร้ายร่างกาย

สาเหตุครูใช้ความรุนแรงกับเด็ก:
ปัญหาอารมณ์จิตใจ ขาดทักษะการแก้ปัญหา อำนาจนิยม ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้วิเคราะห์สาเหตุที่ครูใช้วิธีทำโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงว่า มาจาก 2 สาเหตุ คือ สาเหตุแรก ครูมีความผิดปกติด้านจิตใจและอารมณ์เมื่อครูเกิดความเครียดจากปัญหาส่วนตัว จะระบายสู่เด็กผ่านการลงโทษ สาเหตุที่สอง ครูขาดทักษะการจัดการปัญหาผู้เรียน ครูจำนวนมากเชื่อว่าวิธีลงโทษด้วยการตีเป็นวิธีที่ได้ผล นอกจากนี้ ครูมักไม่ฟังเหตุผลของเด็ก ซึ่งผู้ที่ทำงานด้านเด็กมองว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มีโครงสร้างแบบอำนาจนิยมและการบริหารแบบแนวดิ่ง ประกอบกับการเรียนการสอนมีการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างครูกับนักเรียนน้อย จึงอาจเป็นสาเหตุประการหนึ่งทำให้ครูขาดทักษะการฟัง

ผลการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนทุกระดับ จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2549 ของสมัชชาเด็กและเยาวชน อุดรธานี พบว่า การลงโทษของครูกว่าร้อยละ 77.3 ใช้การตี ร้อยละ 68.9 ใช้การตะคอก และร้อยละ 54.1 ใช้คำพูดดูถูก ประชดประชัน และมีนักเรียนร้อยละ 8 ถูกครูทำโทษอย่างรุนแรงโดยไม่มีเหตุผล

แนวทางแก้ปัญหาและป้องกันการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา

ทดสอบทักษะทางอารมณ์ของผู้เรียนทุกช่วงชั้น
เพื่อให้สถานศึกษาได้รับทราบสภาวะทางจิตใจของเด็ก และช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยสถานศึกษาควรมีเครื่องมือทดสอบในแต่ละช่วงชั้น ที่ได้มาตรฐานและแม่นยำ มีการทดสอบเป็นระยะโดยครูประจำชั้นหรือครูแนะแนว เพื่อทราบพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจของผู้เรียน นอกจากนี้ ควรมีระบบส่งต่อผลการทดสอบนี้ไปยังสถานศึกษาในระดับที่สูงขึ้น หรือเมื่อผู้เรียนเปลี่ยนสถานศึกษา เพื่อเป็นฐานข้อมูลในระยะยาว อันมีผลต่อการปรับพฤติกรรมผู้เรียนไปในทางที่เหมาะสม

ให้ความรู้ด้านจิตวิทยาและทักษะอารมณ์แก่ครู
ครูจำนวนมากไม่มีความรู้ด้านจิตวิทยา ครูส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทำโทษเด็กด้วยการตีหรือการดุด่า มากกว่าการอธิบายด้วยเหตุผล ซึ่งอาจทำให้ผู้เรียนซึมซับเอาวิธีการดังกล่าวจากครูไปใช้ในการแก้ปัญหาใดก็ตาม ดังนั้น สถานศึกษาควรร่วมมือกับนักจิตวิทยาเด็ก นักจิตวิทยาพัฒนาการ มาเพิ่มเติมความรู้ด้านจิตวิทยาให้ครู เพื่อให้ครูได้เข้าใจสภาพของผู้เรียน รวมถึงวิธีแก้ปัญหาและลงโทษเด็กที่เหมาะสม โดยอาจทำเป็นคู่มือสำหรับครูในการแก้ปัญหาและการลงโทษเด็กอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ควรมีการประเมินสภาพจิตใจของครูเป็นระยะ เพื่อหาทางบรรเทาปัญหาด้านอารมณ์ให้ครู ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ครูระบายอารมณ์กับผู้เรียนเมื่อเกิดความเครียด

พัฒนาระบบการลงโทษในสถานศึกษาที่ได้มาตรฐาน
สถานศึกษาจำเป็นจะต้องมีระบบการลงโทษผู้เรียนท่ได้มาตรฐาน โดยมีการลงโทษอย่างเป็นขั้นตอนและยุติธรรม ทั้งความผิดระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครู โดยไม่ควรให้ครูคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินลงโทษนักเรียน เช่น อาจให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง แต่ควรมีหลายฝ่ายเข้าร่วมพิจารณา เช่น ผู้ปกครอง ครูประจำชั้น ครูแนะแนว เพื่อนสนิท นักจิตวิทยาในพื้นที่ ฯลฯ โดยปรับภาพลักษณ์ของครูฝ่ายปกครองที่มีความเอื้ออาทร สามารถเป็นที่พึ่งได้ และมีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง

ผมขอให้กำลังใจแก่ครูและสถานศึกษาในการสร้างคน ซึ่งผมรู้ว่าเป็นงานที่หนักหน่วงในการรับผิดชอบชีวิตผู้เรียน แต่ผมเชื่อว่าเรือจ้างทุกท่านจะสามารถนำพาเด็กไปตามนาวาที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกรากได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการหามาตรการที่สามารถคลายปมปัญหาอันเป็นสาเหตุหลักของความรุนแรง เพื่อลดความรุนแรงในสถานศึกษา
admin
เผยแพร่: 
ปริทัศน์การศึกษาไทย
เมื่อ: 
2007-10-01