CSR? สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจยุคใหม่


* ที่ของภาพ http://www.csr-in-smes.eu/Bilder/csr-startseite-grafik.jpg
 
ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและธุรกิจในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่แยกจากกันได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจต้องพึ่งพาและมีส่วนผลักดันการพัฒนาในสังคม ขณะเดียวกันกับที่สังคมก็ต้องพึ่งพาธุรกิจในหลายด้าน เช่น แหล่งงาน สินค้าและบริการที่ธุรกิจผลิตขึ้นมา โดยตัวชี้วัดความสำคัญประการหนึ่งคือ ความตื่นตัวในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ ldquo;ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR)rdquo; จากการศึกษาของผมพบว่า มี ldquo;แรงผลักrdquo; หลายด้านจากทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ผลักดันให้บริษัทในประเทศไทยจำเป็นต้องนำแนวคิด CSR มาดำเนินการ และแรงผลักนี้จะแรงมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย ผมขอกล่าวเฉพาะแรงผลักภายในประเทศก่อน
 
 
แรงผลักดันประการแรกคือ แรงผลัดันของผู้บริโภค จากผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับ CSR ในกรุงเทพฯ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย อยู่ในระดับสูง และมีความคิดที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการขององค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่าองค์กรธุรกิจที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ยิ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่ถึงกันอย่างรวดเร็ว ทั้งทางสื่อมวลชน หนังสือ อินเตอร์เน็ต ไม่เป็นการยากเลยที่ผู้บริโภคจะทราบว่าบริษัทใดที่ดำเนินธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อสังคมบ้าง
 
แรงผลักดันต่อมาคือ สื่อมวลชน หากประเด็นทางสังคมใดที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน จะทำให้ประเด็นนั้นได้รับการสนใจจากประชาชน และถูกจัดการปัญหาอย่างรวดเร็ว สื่อจึงกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ CSR เกิดขึ้นในประเทศไทย ตัวอย่าง กรณีการทุบรถยนต์ใหม่ที่คุณภาพไม่ดีแต่บริษัทไม่รับผิดชอบแก้ไขให้ โดยเจ้าของทำเพื่อเรียกร้องให้ความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค แต่แทนที่บริษัทนั้นจะแสดงความรับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแต่เนิ่น ๆ กลับปล่อยให้เรื่องถูกขยายความเป็นข่าวในกระแสอยู่หลายวัน จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ในที่สุดชื่อเสียงของบริษัทก็เสียหาย และศรัทธาของผู้บริโภคก็ลดลงจนต้องตัดสินใจรับซื้อรถยนต์คันนั้นคืนจากลูกค้า พร้อมทั้งออกมาตราเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอีก 5 มาตรการ
 
แรงผลักดันจาก NGO/Activist นับเป็นแรงผลักอีกประการ ที่ผ่านมาบทบาทของ NGO/Activist เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบต่อสังคมเริ่มมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพยายามตรวจสอบโรงงานที่สร้างมลพิษให้กับสภาพแวดล้อมในชุมชน จนทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
 
สุดท้ายคือ แรงผลักดันจากภาครัฐ มาตรการที่พอจะเห็นได้อย่างชัดเจน คือ มาตรการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยที่ในปี 2006 เป็นปีแรกที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดให้มีรางวัล Best Corporate Social Responsibilities (CSR) Awards เพื่อเป็นรางวัลสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม การที่ตลาดหลักทรัพย์มีการให้รางวัลดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ที่ไม่เคยทำ CSR ให้ความสนใจ ถูกกระตุ้น และมีแรงจูงใจในการทำ CSR มากขึ้น ซึ่งในอนาคต ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ได้ส่งสัญญาณว่าจะนำประเด็นเรื่อง CSR เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่บริษัททุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องดำเนินการ เหมือนเช่นที่ได้กำหนดมาตรฐานเรื่อง corporate governance ไว้ก่อนนี้แล้ว
 
องค์กรธุรกิจใดที่เข้าใจทิศทางนี้ และปรับตัวดำเนินกิจการเพื่อสังคมอย่างจริงจังได้ก่อน ย่อมเป็นการวางรากฐานเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในอนาคตได้เป็นอย่างดี
 
 
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-09-14