นโยบายของรัฐบาลในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ (2)

บทความในสัปดาห์ที่แล้วผมได้วิเคราะห์ถึงปัญหาในการรับมือกับภัยพิบัติของไทย ครั้งนี้ผมอยากเสนอความคิดเห็นของผมในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต

ที่มา http://www.globalwarmingandu.com/images/World-Worst-Natural-Disaster.jpg

ผมได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ไว้หลายประการ เช่น
 
กำหนดเป้าหมายในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ
 
การไม่กำหนดเป้าหมายมีส่วนทำให้การปฏิบัติงานขาดความกระตือรือร้น เป็นไปอย่างเชื่องช้า ภาครัฐจึงควรกำหนดเป้าหมายในการลดหรือหลีกเลี่ยงการสูญเสียจากภัยพิบัติ เช่น การกำหนดเป้าหมายลดจำนวนผู้ประสบภัยที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป้าหมายในเชิงขอบเขตพื้นที่ที่ต้องประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังควรตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการให้บริการ การช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการฟื้นฟูที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ภาครัฐอาจมีการระบุเวลาชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือประชาชน เช่น หากเกิดน้ำท่วม เจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภายใน 10 นาที เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดความพยายามในการให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่และเพื่อลดลดผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากภัยพิบัติ
 
รวบรวมข้อมูลภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบเพื่อการวางแผน
 
การขาดข้อมูลทำให้การตัดสินใจล่าช้าไม่ทันการและไม่มีประสิทธิภาพ ภาครัฐจึงควรจัดระบบรวบรวมข้อมูลภัยพิบัติทางธรรมชาติ จัดทำฐานข้อมูลด้านภัยพิบัติทั้งประเทศ เช่น แนวโน้มการเกิดภัยธรรมชาติทั้งระยะสั้น (1 - 3 ปี) ระยะกลาง (3 - 5 ปี) ระยะยาว (10 - 20 ปี) แบ่งเป็นประเภทของภัยธรรมชาติชนิดต่างๆ เช่น อุทกภัย พายุ แผ่นดินไหว สึนามิ ฝนแล้ง โดยคาดการณ์ถึงความถี่ที่อาจเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น เพื่อการวางแผนรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในฉากทัศน์ต่างๆ (Scenario Planning) เช่น กรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst case) กรณีเลวร้ายปานกลาง (Moderate case) และกรณีที่สถานการณ์ปลอดภัยที่สุด (Best case) แทนที่จะวางแผนในแง่มุมเดียวหรือทิศทางเดียว
 
จัดตั้งศูนย์ป้องกันและจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ   
 
เนื่องจากที่ผ่านมากลไกการบริหารจัดการภัยพิบัติมีปัญหาจากการที่มีหลายหน่วยงานดูแล แต่ขาดการบูรณาการ ผมจึงเสนอว่าภาครัฐควรบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นศูนย์ป้องกันและจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ
 
แม้ว่าปัจจุบันมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอยู่แล้ว ในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ศูนย์นี้ยังไม่ได้ทำหน้าที่อย่างครบวงจร เนื่องจากทำหน้าที่เพียงเตือนภัย แต่ยังไม่ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการวิกฤตการณ์และสาธารณภัย ภาครัฐอาจยกระดับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติขึ้นเป็นศูนย์ป้องกันและจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการภัยพิบัติครอบคลุมครบวงจรการเกิดภัยพิบัติ ตั้งแต่การเตือนภัยพิบัติ การป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ การเตรียมตัวรับภัยพิบัติ การตอบสนองบริหารจัดการขณะที่เกิดภัยพิบัติ ไปจนถึงการเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติด้วย
 
ในการปฏิบัติงานนั้น ศูนย์ป้องกันและจัดการภัยพิบัติแห่งชาติจะร่วมมือกับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประกาศเตือนภัย การวางแผน การตั้งรับและป้องกันภัยพิบัติ และผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือน การระดมทรัพยากร การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและกู้ภัย รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยป้องกัน ลดผลกระทบจากภัยพิบัติประเภทต่างๆ เป็นต้น
 
สร้างองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
 
ความไม่เข้าใจ ขาดความรู้ของประชาชนทำให้การรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ เป็นเรื่องยากและทำให้เกิดความเสียหายมาก ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงควรให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อสร้างความรู้เท่าทันภัยพิบัติ (Disaster literacy) โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อให้ประชาชนพร้อมรับมือภัยพิบัติด้วยตนเองในเบื้องต้น เช่น ควรอพยพไปที่ไหน หรือควรดำเนินชีวิตอย่างไรเมื่อภัยมาถึง และจะมีวิธีสื่อสารไปยังเจ้าหน้าที่ได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าไปถึงได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น ซึ่งการให้ความรู้นี้อาจทำอย่างไม่เป็นทางการผ่านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรม สัมมนา หรือทำอย่างเป็นทางการผ่านการพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับภัยพิบัติศึกษาในสถาบันการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นต้น
 
นอกจากนี้แล้วภาครัฐยังควรต้องผนึกความร่วมมือกับต่างประเทศ เนื่องจากในอนาคตภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ภัยพิบัติบางอย่างนั้นเกิดขึ้นข้ามพรหมแดน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผนึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาและรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ประสานข้อมูลเตือนภัยพิบัติ เชื่อมโยงองค์ความรู้ร่วมกัน ลดต้นทุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการรับมือกับภัยพิบัติ ประสานความร่วมมือด้านผู้เชี่ยวชาญ และระดมสรรพกำลังช่วยเหลือกันได้อย่างทันท่วงทีด้วย
 
การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ นั้นต้องอาศัยการคิดล่วงหน้าและทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สำคัญคือการเตรียมตัวเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจขึ้นในช่วงเวลาที่สถานการณ์ยังปลอดภัยไม่มีปัญหา ไม่ใช่เมื่อสถานการณ์ปรกติก็วางเฉย เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจึงตื่นตัว สังคมไทยควรเรียนรู้บทเรียนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอดีตให้มากกว่านี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียมหาศาลอันไม่ควรจะเกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา