ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E: ตอนที่ 1 ประสิทธิภาพ
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.gelder-gingras.ca/wp-content/uploads/2015/01/shutterstock_152986346.jpg
ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 2 จัดโดย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 -ผมได้เสนอแบบตัวแบบใหม่สำหรับการบริหารองค์กรหรือประเทศ เรียกว่า ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E (Dr. Dan Can Do 8E Model of Management Strategies) ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ทางการบริหารที่ครบวงจร ในบทความตอนนี้และบทความต่อ ๆ ไป แต่ละหลักคิดมาอธิบายขยายความให้กระจ่าง และยกตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น
ยุทธศาสตร์การบริหาร E ตัวที่หนึ่งคือ Efficiency หรือประสิทธิภาพ หมายถึง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการปัจจัยนำเข้า (Input Management Strategy) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเป็นการบริหารและจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ เวลา ทุน ที่ดิน สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ เป็นต้น ให้เกิดประโยชน์ต่อระดับหน่วยงาน ระดับประเทศหรือส่วนรวมสูงสุด และเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน คำว่า ประสิทธิภาพสำหรับผม คือ ประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ ที่เน้นถึงกระบวนการบริหารจัดการปัจจัยนำเข้าที่ดีจนนำไปสู่ความสำเร็จ โดยมีตัวบ่งชี้ คือความประหยัด หรือความคุ้มค่าต่อหนึ่งหน่วยปัจจัยนำเข้าที่ใช้ เช่น การประหยัดต้นทุน ประหยัดทรัพยากร ประหยัดเวลา อาจกล่าวได้ว่าเป็นการจัดสรรหรือใช้ทรัพยากรที่ยึดถือประโยชน์สูงสุดอันบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือนโยบายที่กำหนดไว้
ผมขอยกตัวอย่างการบริหารจัดการปัจจัยการนำเข้าอย่างมีประสิทธิภาพให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
ตัวอย่างแรก การแก้ปัญหาที่จอดรถ ด้วยวิธีการเชิงนวัตกรรมช่วยในการหาที่จอดรถในกรุงโซล เพื่อประหยัดเวลาและเชื้อเพลิงการขับรถหาที่จอดในแต่ละวัน
เนื่องด้วยเกาหลีใต้ เป็นประเทศหนึ่งที่พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดการใช้เชื้อเพลิงมาโดยตลอด ประกอบสภาพปัญหาการจราจรที่แออัดและการต้องวนหาที่จอดรถเป็นเวลานานในกรุงโซล ทำให้บริษัท S-oil ประเทศเกาหลี ได้เสนอแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการใช้ลูกโป่ง ?HERE? ผูกเชือกติดกับตัวถ่วงและวางไว้ที่ช่องจอดรถทุกช่อง เมื่อไม่มีรถจอด ช่องจอดรถจะว่าง ลูกโป่งจะลอยขึ้น ทำให้ผู้ที่กำลังหาที่จอดมองเห็นช่องว่าง และไม่ต้องเสียเวลาวนรถหาที่จอด เพราะใน 1 วัน ผู้ขับรถจะต้องขับรถอย่างน้อย 500 เมตรต่อวัน หรือ 15 กิโลเมตรต่อเดือนเพื่อหาที่จอด นั่นหมายถึง เป็นการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงถึง 1 ใน 4 แกลลอน หรือ 1 ลิตร คิดเป็น 1.78 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ประโยชน์ที่เกิดขึ้น คือ สามารถลดการใช้แก๊สในกรุงโซลในการขับขี่รถยนต์ได้ถึงปีละ 8,400 ลิตร ส่วนผู้ที่ขับรถและต้องหาที่จอดทุกวัน สามารถประหยัดเงินได้ถึง 21.36 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งหากนำเงินนี้ไปลงทุนให้หุ้นด้วยผลตอบแทนร้อยละ 3 ประมาณ 20 ปี จะทำให้มีเงินทบไปถึงกว่า 7,000 เหรียญสหรัฐ
ตัวอย่างที่สอง ประเทศญี่ปุ่นลงทุนถมทะเลเพื่อสร้างสนามบินคันไซ โดยที่ขอบของสนามบินที่กั้นน้ำทะเลนั้นทำจากหินและคอนกรีต แต่ตัวเกาะที่สร้างเป็นภูเขาสามลูกสร้างมาจากขยะในบ่อฝังกลบ (landfills) จำนวน 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้คนงานถึง 10,000 คน ใช้เวลา 10 ล้านชั่วโมงการทำงาน และใช้เวลาสร้างกว่าจะแล้วเสร็จถึง 3 ปี (ปี 2529 - 2533) ใช้เรือถึง 80 ลำ เพื่อที่จะถมพื้นของสนามบินหนา 30 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลรวมถึงการประกอบผนังกั้นน้ำทะเลให้สมบูรณ์ แต่หลังจากทดสอบการใช้งาน พบว่า ในปี 2534 สนามบินค่อยๆ ทรุดตัวลง 8 เมตร ซึ่งเกินกว่าที่คาดการณ์ ทำให้ต้องสอดแผ่นเหล็กหนาเข้าไปที่ฐานเพื่อรองรับสนามอีกชั้นหนึ่ง ส่งผลให้งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างบานปลาย ประมาณ 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 40% ทว่าคุ้มค่าเมื่อเวลาผ่านไป เพราะสนามบินคันไซแห่งนี้ สามารถทนต่อการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบในปี 2538 ซึ่งมีศูนย์กลางห่างจากตัวเกาะญี่ปุ่นเพียง 20 กม. มีผู้เสียชีวิตถึง 6,433 คน และทำความเสียหายแก่เมืองโกเบจนถึงกับต้องสร้างเมืองใหม่ นอกจากนี้ในปี 2541สนามบินยังผ่านการทดสอบความแข็งแรงอีกครั้งจากไต้ฝุ่นความเร็ว 200 กม./ชม. โดยสนามบินไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น
การสร้างสนามบินคันไซ เป็นการเลือกใช้และบริหารจัดการปัจจัยนำเข้าต่อการดำเนินงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพ บริบทแวดล้อมทางสังคมและประเทศ เพราะในขณะนั้น ประเทศญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขยะล้นประเทศ ประกอบกับมลภาวะทางเสียงในชุมชน และข้อจำกัดในลักษณะภูมิประเทศ จึงทำให้เกิดแนวคิดถมทะเลขึ้นมา รวมถึงมีการจัดการของเสียด้วยแนวคิด Zero waste หรือแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ โดยการนำปัจจัยนำเข้ากลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า การมีจุดเน้นในการบริหารจัดการปัจจัยนำเข้าหรือทรัพยากรต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความประหยัดและความคุ้มค่า รวมถึงทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศทั้งในแง่นโยบายและการลงมือปฏิบัติจริง นอกจากนี้ เรื่องประสิทธิภาพในการบริหารปัจจัยนำเข้า ยังสามารถสะท้อนออกมาได้ในลักษณะคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศและความยั่งยืนของประเทศ
โดยภาพรวม ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีทรัพยากรที่ดีทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ หากเพียงแต่ขาดการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพและการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของภาพรวม ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับเรื่องการใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้าอย่างมีประสิทธิภาพได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันตั้งแต่ภาครัฐที่กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศให้ชัดเจน มีวิธีการที่เป็นไปได้ กำหนดนโยบายที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง ภาคเอกชนที่เป็นผู้สนับสนุนให้ความร่วมมือและส่งเสริม และภาคประชาชนหรือประชาสังคมช่วยกันสอดส่องดูแลความโปร่งใสในการดำเนินงานต่าง ๆ ตรวจสอบ หาข้อเท็จจริงทั้งเชิงทฤษฎีและวิธีการว่าส่งผลดีที่สุดต่อประเทศหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศหรือองค์กรให้เกิดความสมบูรณ์ ครบถ้วนทุกมิติ โดยเฉพาะการบริหารในประเด็นสำคัญระดับชาติ เช่น การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิตมนุษย์ ไม่ได้อาศัยเพียงยุทธศาสตร์การบริหารเฉพาะด้านทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้าเท่านั้น หากแต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ซึ่งตามกรอบแนวคิดของแบบจำลองข้างต้น ยังมีอีก 7 ยุทธศาสตร์การบริหารที่สำคัญ
ทั้งนี้ ผมจะอธิบายยุทธศาสตร์การบริหาร E ตัวที่สอง ในบทความตอนต่อไป
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
?ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
?ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.thinksales.co.za/wp-content/uploads/2014/02/Turn-input-into-innovation_Sales-management-strategy.jpg
Catagories:
Post date:
Friday, 2 October, 2015 - 10:41
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
การส่งเสริมความร่วมมือไทย อินเดีย เพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 1,154 ครั้ง
ปัจจัยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม
Total views: อ่าน 2,084 ครั้ง
ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 3 ประสิทธิผล
Total views: อ่าน 5,164 ครั้ง
เก่งจริง ต้องร่วมทีมได้
Total views: อ่าน 5,311 ครั้ง
ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 2 ประสิทธิการ
Total views: อ่าน 4,793 ครั้ง