ยุทธศาสตร์น่านสร้างชาติ : เมืองแห่งความรัก

แม้การท่องเที่ยวของน่านจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ยังคงเป็นเมืองรองที่ไม่ใช่จุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หากสามารถผลักดันยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยเฉพาะการนำเอาภาพลักษณ์ด้านความรัก ให้กลายเป็นเมืองหลวงโลกแห่งความรัก น่าจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นได้ 

เมื่อปี 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินติดตามงานการศึกษาในพระอุปถัมภ์ที่ จ.น่าน และทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์ และพัฒนาชุมชนบ้านง้อมเปา ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

สถาบันการสร้างชาติได้สนองพระราชประสงค์ โดยจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจฯ และชุมชนบ้านง้อมเปา และระหว่างวันที่ 7-9 มี.ค.2564 คณะทำงานเกือบ 50 คนได้เดินทางไปยัง จ.น่าน เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ดังกล่าว และรับฟังความเห็นในการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด

ผมได้นำเสนอว่า วิสัยทัศน์การพัฒนา จ.น่าน ควรเป็น “เมืองหลวงโลกแห่งความรัก” เนื่องจากน่านมีภาพลักษณ์ที่ผู้คนรู้จักคือ “ความรัก” โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่าน ย่าม่าน” หรือที่รู้จักในชื่อ “กระซิบรักบันลือโลก” ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่โรแมนติก ด้วยภูมิประเทศที่เป็นขุนเขาสลับซับซ้อน อากาศหนาวเย็น พืชพันธุ์ไม้ดอกสวยงาม ศิลปวัฒนธรรมทรงเสน่ห์และบ้านเมืองน่าอยู่

แม้การท่องเที่ยวในจังหวัดได้รับความสนใจมากขึ้น แต่น่านยังคงเป็นเมืองรองที่ไม่ใช่จุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งยังมีสัดส่วนคนจนสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ จึงจำเป็นต้องพัฒนาจุดดึงดูดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และควรสร้างต้นแบบเพื่อเป็นต้นธารของการพัฒนาทั้งจังหวัด

ผมจึงนำเสนอวิสัยทัศน์ระยะยาวในการพัฒนาบ้านง้อมเปาให้เป็น “เมืองหลวงแห่งความรักของน่าน” ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเดิมของบ้านง้อมเปา คือ “ห้วยกานต์” ที่แปลว่า “สายน้ำอันเป็นที่รัก” และหนึ่งในอัตลักษณ์ของชนเผ่าลัวะคือความรัก ทั้งนี้หากยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นขวัญกำลังใจให้กับพื้นที่อื่น เพราะบ้านง้อมเปาอยู่ในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของ จ.น่าน โดยผมมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้

1.การออกแบบการท่องเที่ยวบ้านง้อมเปา

การท่องเที่ยวจะเป็นตัวนำการพัฒนาในระยะยาว เนื่องจากสภาพภูมิประเทศสวยงาม ภูมิอากาศเย็นสบายและภูมิสังคมมีความเฉพาะตัว จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว โดยผ่านหลวงพระบาง จะเป็นโอกาสเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวจีนมายังน่าน

ผมได้นำเสนอแนวคิดหลักของการพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านง้อมเปา คือ “ห้วยกานต์ สายธารรัก” โดยกำหนดนิยามความรักให้ครอบคลุมความรักหลากแบบ เพื่อเป็นกรอบแนวคิดในการออกแบบเรื่องราว สัญลักษณ์ สิ่งดึงดูด เส้นทาง กิจกรรม เทศกาล ประสบการณ์ สินค้าและบริการ รวมไปถึงออกแบบภูมิทัศน์ชุมชน แลนด์มาร์ค และโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว

2.การสร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์

บ้านง้อมเปาอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องเน้นผลิตภัณฑ์ที่ “ทำน้อย แต่ได้มาก” โดยแสวงหาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เช่นการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์เฉพาะถิ่น การเพิ่มคุณค่าโดยใช้กรรมวิธีผลิตที่มีความเฉพาะตัว สะท้อนการดูแลเอาใจใส่ และใส่คุณค่าหรือเรื่องราวเข้าไป

ปัจจุบันคณะทำงานฯ ได้พยายามรื้อฟื้นอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าลัวะ อาทิ เรื่องเล่า ประเพณี เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน และการแสดงออกทางวัฒนธรรมอื่นๆ โดยคาดหวังว่าจะกลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบ้านง้อมเปาในอนาคต

3.การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

หากถามว่าทำไมชาวบ้านยังปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งๆ ที่สร้างรายได้ไม่มาก คำตอบก็คือความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพด ทำให้มีความเสี่ยงต่ำ การทำให้ชาวบ้านลดหรือเลิกปลูกข้าวโพด จึงจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ที่ผ่านมา การเข้าไปส่งเสริมพืชตัวใหม่มักทำแบบแยกส่วน ทำให้ไม่มีตลาดรองรับ หรือไม่ได้ราคาตามที่คาดหวังไว้ ชาวบ้านจึงหันกลับไปปลูกข้าวโพดเหมือนเดิม

ผมจึงเสนอยุทธศาสตร์ในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจบูรณาการ เช่น การสร้างความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตไปจนถึงการทำตลาด การบูรณาการกิจกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาให้ชุมชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

4.การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ชุมชน

การทำให้ชาวบ้านพ้นความยากจน จำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ทั้งโดยการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การแปรรูป และการเพิ่มคุณค่าด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ ผมได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐอย่างเจาะจง ให้ช่วยวิจัยการเพาะเลี้ยงปลามันซึ่งเป็นปลาในธรรมชาติ ให้สามารถเลี้ยงเชิงพาณิชย์ และพัฒนาพันธุ์ฟักทองท้องถิ่นให้มีคุณลักษณะดีที่สุด เช่น บังคับสีสันและรูปร่างตามต้องการ สารอาหารดีที่สุด รวมทั้งการพัฒนาเมนูฟักทอง 365 เมนู และเมนูข้าวใหม่ปลามัน การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น

5.การพัฒนาสังคมและชุมชน

ชุมชนง้อมเปามีปัญหาเช่นเดียวกับชุมชนชนบทอื่นๆ อาทิ ความยากจน การอพยพย้ายถิ่น การขาดการรวมกลุ่ม โรงเรียนมีขนาดเล็กและคุณภาพการศึกษาต่ำ เป็นต้น สถาบันการสร้างชาติจึงมีแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจฯ เพื่อพัฒนาให้เด็กเป็นคนดี เก่ง กล้า เช่น การจัดหาครูอาสาสมัครมาช่วยสอน การสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อแบ่งปันครูร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาให้โรงเรียนเป็นต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพ เพื่อขยายผลไปสู่ชุมชน

นอกจากนี้ สถาบันการสร้างชาติยังมีแผนการจัดหลักสูตร “ชุมชนง้อมเปาสร้างชาติ” เพื่อการพัฒนา ความรู้ ทักษะ ลักษณะชีวิต และทัศนคติของประชาชน เพื่อจุดระเบิดการพัฒนาจากภายใน อันนำไปสู่การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต คุณธรรม และพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน

ในการเดินทางครั้งนี้ ผมและคณะได้เดินทางไปยังจุดที่เป็นต้นน้ำน่าน ซึ่งเป็นเพียงแอ่งน้ำซับขนาดเล็ก ทำให้ผมได้ข้อคิดว่า แม่น้ำน่านที่ใหญ่โตยังเกิดจากแอ่งน้ำขนาดเล็กๆ ฉันใด การทำงานที่ยิ่งใหญ่ของน่าน ย่อมเกิดการทุ่มเททำงานจากจุดเล็กๆ ที่ห้วยกานต์ ฉันนั้น  

 

แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

แหล่งที่มาของภาพ : https://image.bangkokbiznews.com/image/kt/media/image/news/2021/03/23/928946/750x422_928946_1616509457.jpg?x-image-process=style/LG-webp