บทเรียนจากเกาหลีใต้ : การเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
ประเทศยากจนที่สามารถพัฒนาตัวเองจนเป็นประเทศรายได้สูงในโลกนี้มีอยู่หลายประเทศ เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความน่าสนใจและถือว่าเป็นบทเรียนที่ดีให้กับประเทศไทย
เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่ภายหลังสงครามเกาหลีในช่วงปี ค.ศ.1950-1953 ดังนั้น นอกจากการรอรับการช่วยเหลือจากต่างประเทศรัฐบาลเกาหลีจึงมีความพยายามที่จะลดปัญหาความยากไร้ภายในประเทศผ่านการสนับสนุนให้ประชาชนทำอาชีพเกษตรกรรมและผลักดันให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนผลิตสินค้าภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งนี้การที่เกาหลีใต้ได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจลดลงภายหลังจากที่สภาพเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มเติบโตที่มากยิ่งขึ้นประกอบกับการลงทุนในภาคเกษตรกรรมไม่เหมาะสมแก่บริบทการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกต่อไปการวางแผนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจครั้งสำคัญของเกาหลีใต้ในทศวรรษที่ 1960 จึงเกิดขึ้นและส่งผลทำให้ประเทศเกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในเวลาต่อมาในปี 1995 (รายได้เฉลี่ยต่อหัวคือ 12,403 ดอลลาร์สหรัฐ)
ในบทความชิ้นนี้ผมจึงอยากนำเสนอบทเรียนที่น่าสนใจว่าเกาหลีใต้ทำอย่างไรจึงสามารถประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจนเป็นประเทศรายได้สูง โดยปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นมีหลายปัจจัย แต่ในที่นี้ผมจะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ
1. การสนับสนุนนโยบายการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
ภายหลังการยึดอำนาจของทหารในปี ค.ศ.1961 รัฐบาลรักษาการทหารนำโดยนายพลปาร์ค จุงฮี ได้คิดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจคือนโยบายการมองออกไปสู่ภายนอก (Outward-looking policy) ที่เน้นการผลิตสินค้าประเภทอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกตามรอยประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายดังกล่าวเช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
รัฐบาลเกาหลีใต้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้นโยบายการส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา โดยสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าได้ว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในสมัยที่นายพลปาร์ค จุงฮี (ค.ศ.1961-1979) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศคือการผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนในสินค้าอุตสาหกรรมที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเพื่อการส่งออกที่จะได้รับสินเชื่อที่มีชื่อว่า ?Policy Loan? ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25-30 ของเงินสินเชื่อในธนาคารพาณิชย์สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและการจัดหาทรัพยากรต่างๆ ตามที่ภาคเอกชนต้องการ
ในขณะเดียวกันหากบริษัทใดไม่ตอบสนองนโยบายหลักของรัฐจะถูกบีบบังคับทางอ้อมให้ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่รัฐกำหนดผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การตรวจสอบบัญชีโดยกรมสรรพากร เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากการผลักดันให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกตามที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างมียุทธศาสตร์และเป็นขั้นเป็นตอนตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่องนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 และ 2 (ค.ศ.1961-1971) เป็นอุตสาหกรรมหนักและเคมีภัณฑ์เพื่อการส่งออก (ค.ศ.1972-1976) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 3 ที่ส่งผลทำให้เกาหลีใต้สามารถรักษาการเติบโตด้านการส่งออกของประเทศอันเนื่องมาจากต่างประเทศมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า เป็นต้น
2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และงานวิจัยและพัฒนา
จากงานวิจัยเรื่อง Making the Transition from Middle-income to Advanced Economies โดย Alejandro Foxley และ Fernando Sossdor ได้ระบุถึง 2 ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวคือคุณภาพทางการศึกษาและงานวิจัยและพัฒนาภายในประเทศโดยทั้ง 2 ปัจจัยถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและแรงงานที่มีคุณภาพสำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศเกาหลีใต้
ในด้านการศึกษาเกาหลีได้เริ่มปฏิรูประบบการศึกษาในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ในระดับประถมศึกษามัธยมศึกษาและอุดมศึกษาตามลำดับโดยการปฏิรูปการศึกษาอย่างค่อยเป็นค่อยไปคือปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การพัฒนาคุณภาพมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งภาคเอกชนยังเข้ามามีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาเพื่อให้นักศึกษาที่จบไปมีทักษะและความสามารถเพียงพอต่อภาคภาคเอกชนในอนาคต
ทั้งนี้ ในทศวรรษที่ 1970 ได้เกิดการปฏิรูปการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษาในหมวดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหนักและเคมีภัณฑ์ภายในประเทศโดยในส่วนของงานวิจัยและพัฒนาถือได้ว่าเป็นอีกปัจจัยหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศเพราะการเปลี่ยนผ่านจากภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากเป็นอุตสาหกรรมหนักและเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมไอทีและเทคโนโลยีระดับสูง ในทศวรรษที่ 1980 จนถึงปัจจุบันหากปราศจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาภายในประเทศซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2.42 และ 4.04 ของ GDP ในปี 1996 และ 2011 ตามลำดับ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในแต่ละช่วงคงไม่สามารถสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทเรียนสำหรับประเทศไทย
เมื่อพิจารณาดูจาก 2 ปัจจัยข้างต้นที่ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศผมคิดว่าประเทศไทยสามารถเรียนรู้หลายสิ่งจากบทเรียนในครั้งนี้หากดูจากบทเรียนข้างต้นเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเป็นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในต้นทศวรรษที่ 1960 โดยพิจารณาดูจากจุดอ่อนคือลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้อต่ออาชีพเกษตรกรรมและหาโอกาสสำหรับประเทศในการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่น ผ่านการขับเคลื่อนทางนโยบายจากรัฐที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมีจุดมุ่งหมายระยะยาวที่ชัดเจนและทำได้จริง ประกอบกับรากฐานทางการศึกษาและการวิจัยและพัฒนาในประเทศที่แข็งแรง
ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้จากเกาหลีใต้คือประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมียุทธศาสตร์ในระยะยาวได้อย่างแท้จริง โดยสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรทำควบคู่ไปพร้อมกันคือคุณภาพทางการศึกษาและการวิจัยและพัฒนาภายในชาติ
โดยภาครัฐควรตั้งเป้าหมายด้านงบประมาณในการลงทุนด้านการทำวิจัยและพัฒนาภายในประเทศเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง อาทิ ตั้งเป้าให้การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นร้อยละ 2 ของ GDP หรือ มีระบบควบคุมคุณภาพการวิจัยและพัฒนาที่สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อได้จริง เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ สร้างบุคลากรทางการศึกษาที่สามารถตอบสนองตามความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศได้จริง สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และเทคนิคศึกษา เป็นต้น
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,
http:// www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://learnlearn.net/Asia,Afrika/res/Default/ESS_PasteBitmap06141.png
Catagories:
Tags:
Post date:
Thursday, 5 March, 2015 - 11:20
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 82 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 89 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,397 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,359 ครั้ง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,435 ครั้ง