ภาพรวมของประสิทธิผลระหว่างประเทศ

หลังจากสภาปัญญาสมาพันธ์ที่ผมเป็นประธาน ได้ริเริ่มจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (Thailand Effectiveness Index) ตลอดช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ดัชนีดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โครงสร้างดัชนีฯ สะท้อนถึงภาพรวมของสถานการณ์การพัฒนาและความสำคัญขององค์ประกอบต่างๆ ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งยังได้ทดลองนำดัชนีที่พัฒนามาประเมินประสิทธิผลในการพัฒนาประเทศไทย

 
ในขั้นต่อนี้ไปตามวิสัยทัศน์ตั้งแต่เริ่มแรกปัจจุบัน สภาปัญญาสมาพันธ์ สมาคมปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ได้ร่วมมือกันพัฒนาดัชนีประสิทธิผลระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้วัดประสิทธิผลการพัฒนาเปรียบเทียบระหว่างประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มอาเซียน อันจะทำให้เกิดการเรียนรู้และการแข่งขันระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
 
การประเมินประสิทธิผลของดัชนีประสิทธิผลระหว่างประเทศ มุ่งเน้นไปที่การวัดผลลัพธ์ของการพัฒนา (outcomes) มากกว่าวิธีการพัฒนา (means) โดยทำการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเป้าหมายที่คาดหวัง ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศ คือ การเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ของประชาชน การวัดที่ผลลัพธ์สามารถประเมินผลกระทบของการพัฒนาต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้โดยตรง ขณะที่การวัดวิธีการนั้นไม่อาจรับประกันว่า จะเกิดผลดีต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนหรือไม่
 
ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินประสิทธิผลในดัชนีนี้ ได้แก่ ข้อมูลสถิติทุติยภูมิจากแหล่งต่างๆ และการกำหนดเป้าหมายที่คาดหวังของแต่ละตัวชี้วัด ใช้หลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
 
เกณฑ์ตามหลักวิชาการ เช่น มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสาธารณสุข
 
เกณฑ์ตามแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ในต่างประเทศ เช่น อัตราการเกิดอุบัติเหตุ อัตราการหย่าร้าง ฯลฯ โดยพิจารณาตัวเลขสถิติในกลุ่มประเทศที่มีความเหมาะสมในการนำมาใช้เป็นเป้าหมาย
 
เกณฑ์ตามแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในอดีต ในกรณีที่ไม่มีแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศที่เหมาะในการนำมาใช้เป็นเป้าหมาย อาจพิจารณาใช้แนวปฏิบัติที่ดีของไทยใน
 
โครงสร้างดัชนีชี้วัดประสิทธิผลระหว่างประเทศประกอบด้วย เป้าหมายการพัฒนาประเทศทั้งหมด 7 ด้าน 16 หมวด 41 ตัวชี้วัด ครอบคลุมมิติการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคง และการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้โครงสร้างของดัชนีฯ พัฒนาขึ้นบนฐานตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศที่สำคัญของประเทศส่วนใหญ่ในโลก
 
ในบทความตอนนี้ ผมจะนำเสนอผลการวัดดัชนีประสิทธิผลระหว่างประเทศในภาพรวมใน 3 ด้านแรกของประเทศสมาชิกอาเซียนตามโครงสร้างดัชนี ดังต่อไปนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวดการเจริญเติบโต เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ พบว่า ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีคะแนนประสิทธิผลมากที่สุด คือ  72.9% รองลงมาเป็นประเทศกัมพูชา และอินโดนีเซีย ด้วยคะแนน 67% และ  60.9% ตามลำดับ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและมีเสถียรภาพมาก
ทั้งนี้ประเทศเวียดนามเป็นประเทศเดียวที่มีการส่งออกขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องสวนทางประเทศอื่นๆ ขณะที่ประเทศกัมพูชามีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ส่วนอินโดนีเซียได้คะแนนสูงจากหมวดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดจำนวนลงอย่างมากของแรงงานนอกระบบ
 
2. ด้านสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่ หมวดสิ่งแวดล้อมและหมวดทรัพยากร พบว่า ประเทศที่มีคะแนนภาพรวมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย โดยมีคะแนนประสิทธิผล 75% , 54% และ 53% ตามลำดับ
 
ฟิลิปปินส์ได้คะแนนเต็มในเรื่องสัดส่วนของพื้นที่ป่า ส่วนเวียดนามมีแนวโน้มที่สัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาเลเซียได้คะแนนสูงในหมวดสิ่งแวดล้อม คือ การจัดการเรื่องฝุ่นละอองและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
3. ด้านการศึกษา แบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่ การเข้าถึงและคุณภาพการศึกษา พบว่า ประเทศที่มีคะแนนประสิทธิผลสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ประเทศมาเลเซีย 88.7% ประเทศอินโดนีเซีย 73.5% และประเทศสิงคโปร์  58.6% ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ด้วยคะแนน 11.7%
 
ทั้งนี้ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียมีสัดส่วนคะแนน PISA โดยเฉลี่ยในปี 2558 สูงขึ้นจากปี 2555 แต่ประเทศไทยกลับมีคะแนนลดลง นอกจากนี้ ทุกประเทศในอาเซียนมีจำนวนการเข้าถึงการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ประชากรสิงคโปร์มีจำนวนปีของการศึกษามากที่สุดและเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เพิ่มขึ้นเกือบ 4 ปี (ข้อมูลระหว่างปี 2543 - 2558) ขณะที่ไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ปี ทั้งนี้หากประเทศไทยมีคะแนน PISA เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ จะทำให้คะแนนประสิทธิผลด้านการศึกษาของไทยเพิ่มขึ้น
 
อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีคะแนนประสิทธิผลสูง ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้น มีระดับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดีเพียงพอแล้ว หรือดีกว่าประเทศอื่นที่คะแนนต่ำกว่า แต่หมายความว่า ประเทศนั้นมีผลลัพธ์ของการพัฒนาไปจนถึงเป้าหมายหรือเกินเป้าหมายที่วางไว้
 
ส่วนประเทศที่คะแนนประสิทธิผลต่ำ เช่น ประเทศเวียดนามที่ได้คะแนนประสิทธิผลด้านการศึกษา 0% นั้น (ทั้งที่เวียดนามที่สัดส่วนคะแนน PISA เฉลี่ยสูงรองจากสิงคโปร์ และคะแนน PISA แซงหน้าไทยเกือบ 13% ) ไม่ได้หมายความว่าประเทศเวียดนามด้อยพัฒนาทางด้านการศึกษา แต่หมายความว่า การศึกษาของประเทศเวียดนามไม่มีการพัฒนาขึ้นจากข้อมูลในปีที่ใช้เป็นปีอ้างอิง หรือผลลัพธ์แย่ลงกว่าปีที่อ้างอิง
 
จากคำกล่าวที่ว่า ?หากไม่สามารถวัดผลได้ เราจะไม่สามารถบริหารจัดการได้? การขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จำเป็นต้องมีการวัดประสิทธิผลของการดำเนินงานในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม เพื่อที่จะทราบสถานะปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานในอนาคต
 
บทความตอนหน้าจะเป็นประสิทธิผลของ 4 ด้านที่เหลือ และในบทความตอนต่อๆ ไป ผมจะบ่งชี้ประสิทธิผลของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนในรายละเอียดของตัวชี้วัดต่างๆ พร้อมข้อเสนอแนะตามประเด็นที่น่าสนใจในกระแสสังคมโลกครับ
 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ