วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดทำวิจัยสร้างผลกระทบทางด้านสุขภาพ
ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาภาพรวมทั้งมหาวิทยาลัย และยังให้ความสำคัญกับการกระจายความรับผิดชอบลงสู่ระดับวิทยาลัย โดยให้เป็นเป้าหมายร่วมกันที่แต่ละวิทยาลัยของฮาร์วาร์ดจะต้องขับเคลื่อนภารกิจทางด้านการศึกษาตามจุดแกร่งของตนเอง อาทิ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การทำวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคมและประชาคมมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลทำให้วิทยาลัยต่าง ๆ ของฮาร์วาร์ดสามารถสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ระดับองค์กร ระดับชุมชน ระดับสังคมประเทศชาติ และระดับโลก อาทิ วิทยาลัยเคนเนดี้สคูลแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School) ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะหล่อหลอมสร้างคนเปลี่ยนโลก หรือ วิทยาลัยธุรกิจแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) แหล่งผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงป้อนสู่สถานประกอบการชั้นนำทั่วโลก เป็นต้น
บทความนี้เช่นเดียวกันที่ต้องการแนะนำให้รู้จักกับอีกหนึ่งวิทยาลัยสำคัญของฮาร์วาร์ด นั่นคือ วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Harvard T.H. Chan School of Public Health เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ นายชาน เจิ้ง ฮิช (Chan Tseng-His) บิดาของนายเจอรัลด์ เอล. ชาน (Gerald L. Chan) ศิษย์เก่าวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดที่บริจาคเงินมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของฮาร์วาร์ดจำนวนกว่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่วิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ทางด้านสาธารณสุข
วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ผ่านการทำวิจัย ผลิต ต่อยอด และกระจายองค์ความรู้ทางด้านสาธารณสุขป้อนสู่สังคม ปัจจุบันวิทยาลัยแห่งนี้มีหน่วยรับผิดชอบผลักดันภารกิจด้านการวิจัยอยู่หลายหน่วยด้วยกัน อาทิ สำนักงานยุทธศาสตร์และการพัฒนา (Office of Research Strategy and Development) หน่วยบริหารงานวิจัยวิทยาเขตฮาร์วาร์ดลองวูด (Harvard Longwood Campus Research Administration) สำนักงานบริหารงานวิจัยมนุษย์ (Office of Human Research Administration) มีเงินทุนสนับสนุนการวิจัยเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี เงินทุนวิจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษาและการปฏิบัติทางด้านการสาธารณสุขทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ภารกิจด้านการวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดมีความโดดเด่นและสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับโลก เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยไทยในการเรียนรู้และนำมาปรับประยุกต์ใช้ ดังนี้
สร้างผลกระทบระดับนโยบายและการปฏิบัติ วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลิตงานวิจัยสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบประกอบการตัดสินใจทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ ด้วยการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ดังกล่าวเหล่านี้ให้แก่กลุ่มผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติทางด้านสุขภาพ ในจำนวนนี้มีผลงานวิจัยจำนวนมากที่สร้างผลกระทบระดับประเทศและระดับโลก อาทิ ผลงานวิจัยของนักวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดที่เพิ่งมีการเผยแพร่เมื่อไม่นานนี้มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ โดยเสนอให้โรงเรียนในสหรัฐฯ ควรมีการพัฒนาปรับปรุงอาหารมื้อกลางวันที่ทำให้เด็กนักเรียนได้รับประทานผักและผลไม้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กนักเรียนเหล่านี้ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางด้านปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Research Centres of Excellence on Social Determinants of Health) เพื่อสร้างความสามารถอย่างยั่งยืนทางด้านการวิจัยสุขภาพและปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ อันจะเป็นวัตถุดิบสำคัญประกอบการตัดสินใจทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสุขภาพของกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่อไป เป็นต้น
เป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพ วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดมียุทธศาสตร์วางตำแหน่งตนเองเป็นผู้นำการวิจัยด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์สาขาวิชา (Multidisiplinary) และแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ที่มุ่งสร้างให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อสนองตอบความแตกต่างหลากหลายทางด้านวิทยาการความรู้และเท่าทันกับประเด็นปัญหาสุขภาพและสภาพโรคภัยไข้เจ็บในโลกยุคสมัยใหม่ที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
เตรียมองค์ความรู้สู่การเผชิญความท้าทายทางด้านสุขภาพในอนาคต การวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดมีลักษณะโดดเด่นที่สำคัญประการหนึ่งคือ เป็นการวิจัยเตรียมองค์ความรู้สำหรับการเผชิญความท้าทายทางด้านสุขภาพและปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการมองอนาคตในระยะยาว ช่วยให้สามารถวางแผนและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายทางด้านสุขภาพอย่างทันท่วงที อาทิ การทำวิจัยเตรียมพร้อมองค์ความรู้สำหรับการเผชิญความท้าทายทางด้านการดูแลสุขภาพในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นต้น
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ปัจจุบันการวิจัยทางด้านการสาธารณสุขกำลังเป็นประเด็นความสนใจของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมรับมือกับการเผชิญความท้าทายทางด้านสุขภาพในอนาคต อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสังคมในลักษณะต่าง ๆ อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและบริการเสรีระหว่างประเทศ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยจึงควรให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะและวิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์ที่ควรตั้งเป้าหมายผลิตผลงานวิจัยที่จะมีส่วนในการพัฒนาชาติและท้องถิ่นบนจุดแกร่งทางด้านองค์ความรู้และการวิจัยของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยเชิงอนาคต (future research) เพื่อเตรียมองค์ความรู้ให้พร้อมสำหรับการเผชิญสถานการณ์ความท้าทายทางด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนงานวิจัยประเภทนี้อยู่มาก
ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ปีที่ 62 ฉบับที่ 33 วันที่ 1-7 พ.ค.2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แหล่งที่มาของภาพ : http://semmelweis.info/wp-content/uploads/2013/03/Webmonitoring.jpg
Tags:
Post date:
Friday, 15 May, 2015 - 15:40
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 136 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 131 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,417 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,424 ครั้ง