แนวโน้มของการเงินการธนาคารในศตวรรษที่ 21 (1) : จะเป็นอย่างไร?
ปัจจุบัน ระบบการเงินการธนาคาร กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ การพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin Tech) จะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อระบบการเงินการธนาคารของไทยและของโลก และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีการดำเนินชีวิต ผมได้สรุปแนวโน้มไว้ 6 ประการ แต่ในบทความนี้จะขอนำเสนอ 2 ประการแรก ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 จาก “บริการออฟไลน์” สู่ “บริการออนไลน์” ประชาชนนิยมใช้บริการออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธนาคารต้องลดจำนวนสาขาลง ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า งานในธนาคารแบบเดิมจะหายไปร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50 ซึ่งหมายความว่า ตำแหน่งงานในธุรกิจธนาคารจะหายไปในสัดส่วนเดียวกัน ทั้งนี้ยังไม่รวมผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การธนาคารออนไลน์ (Online Banking) ในปัจจุบัน มี 3 รูปแบบ ได้แก่
(1) การธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banking) เป็นธนาคารที่ไม่มีสาขาอยู่ในโลกจริง โดยในอดีต ธนาคารเสมือนจริงเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงินแบบเดิมที่มีขนาดใหญ่ เน้นให้บริการกับกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อค่าบริการ ธนาคารเสมือนจริงแห่งแรก คือ “Direct Banks” ซึ่งเป็นธนาคารทางโทรศัพท์ ต่อมาธนาคารเสมือนจริงเปิดให้บริการผ่านระบบออนไลน์และโทรศัพท์มือถือ เรียกว่า Virtual Banking 1.0 การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ virtual banks นำเสนอคุณค่าที่เหนือกว่า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงปรากฏเป็น Virtual Banking 2.0 เช่น Fidor ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นธนาคารเสมือนจริงเต็มรูปแบบแห่งแรกของโลก
(2) การธนาคารบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) เป็นบริการเสริมของธนาคารจริง ที่ขยายบริการไปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพราะประชาชนเข้าถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินจึงเพิ่มช่องทางดิจิทัลในการทำธุรกรรมพื้นฐาน ต่อมา มีการพัฒนา Mobile Banking ที่มีบริการได้ครบถ้วน เหมือนไปธนาคารจริงๆ ตั้งแต่การโอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน โอนเงินเดือน และธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น การที่ Mobile Banking ไม่ใช้ระบบเดิมของสถาบันการเงิน แต่สามารถนำเสนอแอปพลิเคชันที่ทำให้ธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องง่ายกว่าการไปธนาคารแบบเดิม เช่น การโอนเงินระหว่างบุคคล โดยไม่ผ่านคนกลาง (P2P money transfer) การชำระเงินโดยสแกน QR code การใช้การจดจำเสียงแทนการกรอกรหัส (voice recognition) ปัจจุบันนี้ ทั่วโลกมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน Mobile Banking 1.2 พันล้านคน โดยเกาหลีใต้ มีสัดส่วนผู้ใช้ Mobile Banking ต่อประชากรเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 12 โดยมีผู้ใช้ Mobile Banking ร้อยละ 24 ของจำนวนประชากร เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบ ‘พร้อมเพย์’ มากขึ้น โดยไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินด้วยพร้อมเพย์ที่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อครั้ง
(3) แพลตฟอร์มการธนาคาร (Banking as Platform) เป็นทางออกสำหรับธนาคารแบบเดิม โดยการสร้างมาตรฐานระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้นักพัฒนา (3rd party developers) เข้ามาสร้างแพลตฟอร์มในส่วนที่ต้องพบปะกับลูกค้า ทั้งนี้ ระบบการธนาคารแบบเดิมมีความจำกัดในการปรับตัวไปสู่การให้บริการออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการเงินขนาดเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน ไม่สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการที่ครบถ้วน แพลตฟอร์มการธนาคารจะทำให้ธนาคารแบบเดิมสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้ โดยที่ใช้เงินลงทุนต่ำลง ตัวอย่างแพลตฟอร์มการธนาคาร ได้แก่ Simple Bank, GoBank, Ally, USAA, Vitual Wallet by PNC
ประการที่ 2 จาก “สังคมใช้เงินสด” สู่ “สังคมไร้เงินสด” แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินจะนำไปสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น เพราะบริบทกำลังเอื้อให้ธุรกรรมการเงินสามารถทำผ่านระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล (Digital Payment) มากขึ้น ส่งผลให้การชำระเงินเป็นระบบเสมือนจริง (Virtualization) หรือระบบชำระเงินแบบไร้รอยต่อ (seamless payment) คือ สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องพกเงินสด กระเป๋าสตางค์ หรือแม้แต่บัตรเครดิต ตัวอย่างนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่
(1) ระบบชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile payments) โดยมีนวัตกรรมสำคัญที่ช่วยให้เกิดระบบชำระเงินบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิ Mobile wallets (e-Wallet) หรือบริการกระเป๋าเงินออนไลน์ ที่รองรับมูลค่าของเงินในรูปดิจิทัล ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดหรือบัตรเครดิต เงินในกระเป๋าเงินออนไลน์อาจมาจากการเติมเงิน การผูกกับบัตรเครดิต หรือบัญชีเงินฝากธนาคาร ระบบชำระค่าสินค้าบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Payment) เช่น แอปพลิเคชันการชำระเงินต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือ เช่น Apple Pay, Samsung Pay, Android Pay, Line Pay ฯลฯ การชำระเงินโดยสแกน QR code (QR Payment) รวมถึง ระบบ Promptpay ที่นำบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ มาผูกกับบัญชีเงินฝากธนาคาร และโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้ โดยไม่ต้องจำเลขบัญชีธนาคาร
(2) ระบบชำระเงินประสิทธิภาพสูง (Streamlined payments) เช่น ระบบชำระเงินระหว่างเครื่องจักร (Machine-to-Machine Payment) คือ ระบบชำระเงินอัตโนมัติที่เชื่อมโยงกับระบบ Internet of Things (IoT) เช่น รถยนต์ที่มี IoT เมื่อขับเข้าไปเติมน้ำมัน ในปั๊มที่หัวจ่ายน้ำมันมี IoT รถยนต์จะจ่ายเงิน (แบบดิจิทัล) ให้กับหัวจ่ายน้ำมันโดยตรง เพราะมีเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับว่า เติมน้ำมันประเภทใดและในปริมาณเท่าไร ระบบชำระเงินบนฐานตำแหน่งที่ตั้ง (Location-based payments หรือ geotagging) เป็นการต่อยอดจากระบบการตลาดที่ใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งที่ตั้ง เช่น เมื่อลูกค้าเดินมาใกล้ร้านค้าหรือจุดประชาสัมพันธ์ จะมีข้อความปรากฏในโทรศัพท์โดยอัตโนมัติ เพื่อเชิญชวนหรือให้ส่วนลดในการซื้อสินค้า ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการซื้อสินค้าและบริการ ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการง่ายขึ้น
(3) ระบบความปลอดภัยรุ่นใหม่ (Next generation security) จะถูกพัฒนามาใช้แทนระบบรหัส จะช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น การใช้ข้อมูล Biometrics (เช่น สแกนลายนิ้วมือ ม่านตา ใบหน้า) การใช้เครื่องมือจดจำเสียง เทคโนโลยีการระบุตำแหน่ง หรือการจัดทำชุดข้อมูลเสมือนที่ถูกเข้ารหัสโดยการสุ่ม (Tokenization standards) เพื่อใช้แทนข้อมูลที่ต้องการความปลอดภัยสูง เช่น เลขบัตรเครดิต ระบบความปลอดภัยเหล่านี้ จะทำให้การชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด มีความปลอดภัยมากขึ้น
(4) กระบวนการจัดทำคำสั่งซื้อแบบบูรณาการ (Integrated billings) เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ให้บริการจัดทำคำสั่งซื้อแบบบูรณาการ อำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนของการซื้อสินค้าในแอปพลิเคชันเดียว เช่น แอปพลิเคชันสั่งซื้อสินค้าและชำระเงิน แอปพลิเคชันช็อปปิ้งบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม กำลังขยายเป็นวงกว้างและเกี่ยวข้องกับทุกมิติในชีวิตมากขึ้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินการธนาคารเช่นเดียวกัน เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ คนจึงหันมาใช้และพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การรู้เท่าทันแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ย่อมจะช่วยให้เกิดการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมอนาคต เพื่อการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com