เยอรมนี : ?จีนแห่งยุโรป? (The China of Europe)

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เยอรมนีซึ่งเคยเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในทางเศรษฐกิจของโลก มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำมาก

จนนิตยสาร The Economist กล่าวว่าเยอรมนีเป็นผู้ถ่วงความเจริญของยุโรป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจเยอรมนีฟื้นตัวจากวิกฤติรวดเร็วกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3.6 ในปี 2010 เปรียบเทียบกับสหรัฐฯที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยมูลค่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในปี 2010 ทั้งที่ในช่วงต้นของทศวรรษ 2000 การขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในปัจจุบันเป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 18.5 ในปี 2010 หากพิจารณาตั้งแต่ปี 2000 - 2009 สัดส่วนของการส่งออกต่อจีดีพีของเยอรมนีขยายตัวถึงร้อยละ 22 (เทียบกับจีน ร้อยละ 15 สหรัฐฯร้อยละ 1 อิตาลีติดลบร้อยละ 11 และฝรั่งเศสติดลบร้อยละ 19)

วันนี้เยอรมนีกลับมาอยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันได้ดีอีกครั้งหนึ่ง และมีการเปรียบเยอรมนีว่าเป็น ?จีนแห่งยุโรป? (The China of Europe) โดยมีเหตุผลเนื่องจาก

การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำ

ภาพของจีนที่ความสามารถในการแข่งขันมาจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำนั้นชัดเจน ส่วนเยอรมนีนั้นดูผิวเผินแล้วไม่น่าจะใช่ แต่แท้จริงแล้วการขยายตัวของการส่งออกของเยอรมนีส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนแรงงานในประเทศที่ต่ำ (แม้ว่าค่าจ้างแรงงานในเยอรมันอาจสูงกว่าหลายประเทศ แต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพของประชาชนในประเทศแล้วยังถือว่าต่ำ) โดยนักวิจัยจาก German Institute for Economic Research ในเบอร์ลินระบุว่าประมาณ 1 ใน 5 ของแรงงานเยอรมันต้องทำงานที่ไม่มั่นคงและผลตอบแทนต่ำ ทำให้แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีแต่รายได้ที่นำมาใช้จ่ายได้ (Disposable Income) ของชนชั้นกลางไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (Time, March 7, 2011) หรืออาจกล่าวได้ว่าชนชั้นกลางหรือแรงงานไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการขยายตัวของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา

เยอรมันเป็นประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่สามารถลดต้นทุนทางด้านแรงงานลงได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2005 โดยค่าจ้างแรงงาน (เชิงสัมพัทธ์) ที่ต่ำเป็นผลมาจาก 3 ประการ คือ

     1) การปฏิรูปกฎระเบียบข้อบังคับด้านแรงงานจากที่เคยเข้มงวด ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถว่าจ้างแรงงานได้ง่ายขึ้น

     2) แรงงานบางส่วนกังวลว่าตัวเองจะต้องตกงาน เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายไปยังประเทศซึ่งมีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า เช่น จีน แรงงานจึงยอมรับค่าจ้างที่น้อยลงเพื่อแลกกับความมั่นคงในการทำงานซึ่งบริษัทมอบให้ (เช่น บริษัทซีเมนส์มีการรับประกันการจ้างงานจนถึงปี 2013 เป็นต้น)

     3) ในช่วงที่ประเทศต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลให้การอุดหนุนด้านการจ้างงานแก่ภาคเอกชนเพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้ ซึ่งในปี 2009 มีแรงงานที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ถึง 1.4 ล้านคน

แง่มุมนี้เองทำให้เยอรมนีถูกนำมาเปรียบกับจีน อย่างไรก็ตาม เยอรมนีไม่ได้เน้นผลิตและส่งออกสินค้าราคาถูกเหมือนจีน แต่เยอรมันผลิตและส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์หนักต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้า Made in Germany

การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมีส่วนทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก

จีนถูกกล่าวหาจากสหรัฐฯว่า รัฐบาลจีนกดค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อสร้างความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมให้แก่สินค้าจีน เป็นเหตุให้สหรัฐฯต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นอย่างมากและมีส่วนทำให้แรงงานบางส่วนต้องตกงาน ประกอบกับการขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหา ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากหลายประเทศพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เมื่อการบริโภคในสหรัฐฯมีปัญหา ประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯย่อมมีปัญหาไปด้วย

ในทำนองเดียวกัน เยอรมนีเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาล ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในสหภาพยุโรปนั้นต้องขาดดุลจำนวนมาก โดยการเกินดุลการค้ากว่าร้อยละ 80 ของเยอรมนีมาจากประเทศในสหภาพยุโรป ด้วยเหตุที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันตามเยอรมนีได้ทัน และยังไม่สามารถทำให้ค่าเงินอ่อนค่าเพื่อทำให้ประเทศแข่งขันได้ดีขึ้น เนื่องจากทุกประเทศใช้สกุลเงินเดียวกัน

ทั้งจีนและเยอรมนีถูกเรียกร้องให้ปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของตนเอง จีนถูกเรียกร้องให้ลดค่าเงินหยวนลง ขณะที่เยอรมนีถูกเรียกร้องให้ปฏิรูปเศรษฐกิจของตนเอง เน้นการสร้างอุปสงค์ในประเทศให้มากขึ้น (Domestic Growth) แทนการส่งออก เพื่อประโยชน์แก่ประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมนีให้บทเรียนแก่ไทยหลายประการ เช่น ประเทศสามารถพลิกฟื้นและเปลี่ยนแปลงได้หากดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพราะขณะที่ประเทศอื่นในยุโรปกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้ การกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และการขึ้นเงินเดือน แต่เยอรมนีเน้นรักษาและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเทียบกับประเทศเกิดใหม่ที่ต้นทุนต่ำ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตสินค้าที่อาศัยความเชี่ยวชาญสูง คุณภาพสูงและปฏิรูปตลาดแรงงานเพื่อลดต้นทุนที่เป็นภาระแก่ภาคธุรกิจลง

บทเรียนอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตที่ไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายด้วยเน้น ?ไทยเป็นศูนย์กลาง? ได้ การดำเนินนโยบายต้องให้คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคมากขึ้นด้วย


ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://static.klix.ba/media/images/vijesti/080511033.jpg