ประเทศไทยหลังเปิดประชาคมอาเซียน (1)

ประชาคมอาเซียนเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น แต่การสำรวจที่ผ่านมากลับพบว่า คนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมีสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งอาจทำให้คนไทยพลาดโอกาสหรือขาดความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศไทยในหลายด้าน โดยในบทความตอนแรกนี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงใน 2 ด้าน ดังต่อไปนี้

1) เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น

การศึกษาของหลายสถาบันพบว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยศึกษาพบว่า AEC จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ.2558 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.75 จากแนวโน้มอัตราการขยายตัวในกรณีที่ไม่ได้รวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน และเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวขึ้นเป็นผลจากการลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 และการขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนขยายตัวสูงขึ้น ทั้งนี้การคาดการณ์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า การส่งออกของไทยไปยังอาเซียนในปี 2558 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ต่อปี คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 2.29 หมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้การส่งออกของไทยไปยังอาเซียนขยายตัวถึงร้อยละ 39.5 ในปี 2558 และส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าส่งออกของไทยในตลาดอาเซียนจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35.8

การเปิดเสรีการลงทุนจะทำให้มีเงินลงทุนโดยตรงจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจบริการที่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้สูงถึงร้อยละ 70 เช่น การขนส่งทางอากาศ บริการด้านการท่องเที่ยว บริการสุขภาพ และบริการโลจิสติกส์ เป็นต้น นอกจากนี้การลงทุนจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนมายังประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากภูมิศาสตร์ของไทยอยู่ตรงกลางภูมิภาค จึงเหมาะแก่การลงทุนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค

ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน โดยมีการคาดหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากอาเซียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศในอาเซียนจะลดลง โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระหว่างประเทศได้รับการพัฒนามากขึ้น การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และการเคลื่อนย้ายของแรงงานออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยที่มีความได้เปรียบจากตำแหน่งที่ตั้ง ความหลากหลายของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว จึงมีโอกาสได้รับประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น

2) โครงสร้างเศรษฐกิจมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย เนื่องจากการเปิดให้สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานทักษะสูงสามารถเคลื่อนย้ายภายในภูมิภาคได้อย่างเสรีมากขึ้น ประเทศไทยต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องแข่งขันกับประเทศที่มีค่าจ้างราคาถูกและมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เช่น เมียนม่าร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น การแข่งขันที่รุนแรงจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของประเทศและภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มจากการออกแบบ (เช่น แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์) และ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจำเป็น (เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง) ส่วนภาคบริการที่จะได้ประโยชน์ คือ การท่องเที่ยว บริการสุขภาพและความงาม บริการธุรกิจ และการก่อสร้างและออกแบบ ส่วนสินค้าภาคเกษตรที่ได้รับประโยชน์มีบางส่วน เช่น มันสำปะหลัง ยาง และผลไม้

ส่วนภาคเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ สินค้าขั้นต้นในภาคการเกษตร เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง โคเนื้อ โคนม ชา กาแฟ หอม กระเทียม ไหมดิบ สินค้าประมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร 23 รายการที่ประเทศไทยเคยมีมาตรการปกป้อง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนถึง 6 ประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย (ดูตารางที่ 1) ขณะที่ภาคบริการที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษหรือการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพหรือเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การเงิน ธนาคาร ประกันภัย โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ ค้าปลีก?ค้าส่ง และโลจิสติกส์ ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีศักยภาพในด้านบริการสูงที่สุดในอาเซียน

ประชาคมอาเซียนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงขนาดและเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นทั้งผลดีต่อภาคธุรกิจและประชาชนบางส่วน หรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อภาคธุรกิจและประชาชนอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ขาดความพร้อม

ในบทความตอนต่อไป ผมจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอีก 3 ประเด็นที่ผมคิดว่ามีความสำคัญสำหรับท่านผู้อ่าน ในการกำหนดทิศทางการเตรียมความพร้อมรับมือกับประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึง

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/183861/0.jpg