โอบาม่าแคร์ และระบบประกันสุขภาพของไทย

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

ระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกับหลายประเทศทั่วโลก และเป็นประเทศเดียวในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคน อีกทั้งการเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลของประชาชนชาวสหรัฐฯ มีความเลื่อมล้ำในการได้รับบริการที่แตกต่างกันตามกรมธรรม์สุขภาพของแต่ละบุคคล ปัจจุบันชาวอเมริกันสามารถเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพผ่าน 3 ช่องทาง (คนอเมริกันส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง) ได้แก่ รัฐบาลเป็นผู้ประกัน บริษัทเอกชนผู้ว่าจ้างเป็นผู้ประกัน และการซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพด้วยตัวเอง

ระบบการบริการดูแลสุขภาพของสหรัฐอเมริกามีเอกลักษณ์ของตนเอง และเกือบทั้งหมดดำเนินการโดยภาคเอกชน ในแง่ดีคือ สามารถให้บริการรักษาพยาบาลด้วยคุณภาพสูงสุด แต่ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ผู้ที่ไม่สามารถเข้าระบบประกันสุขภาพและผู้ที่ต้องจ่ายเงินซื้อกรมธรรม์ด้วยตนเองเป็นกลุ่มคนที่ลำบากที่สุด และเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ว่าราวครึ่งหนึ่งของครอบครัวอเมริกันที่ถูกฟ้องล้มลายในแต่ละปีมีสาเหตุจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล

ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกระทบต่อระบบสาธารณสุขของสหรัฐ เป็นภาระแก่คนที่ไม่มีประกันสุขภาพกับรัฐบาล และเมื่อผนวกกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น จำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่ชะลอตัว การขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องหลายปี ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า รัฐบาลสหรัฐจะแบกรับภาระได้หรือไม่ และควรทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพเหล่านี้

ปัจจุบันชาวอเมริกันกว่า 40 ล้านคนยังไม่มีประกันสุขภาพ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาทางสุขภาพจึงเลือกที่จะซื้อยาตามร้านขายยา หรือตัดสินใจเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลเมื่อสายเกินที่จะเยียวยารักษาแล้ว ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐหลายชุดที่ผ่านมาพยายามผลักดันนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เนื่องมาจากปัจจัยด้านงบประมาณที่รัฐบาลต้องแบกภาระเพิ่มมากขึ้น

ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า มีความคิดเหมือนกับรัฐบาลหลายชุดในอดีต ที่ต้องการจะผลักดันให้ประชาชนทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงระบบรักษาพยาบาล โดยเป็นเสมือนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ อีกทั้งเขายังมีความคิดที่จะลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศ โดยประธานาธิบดีโอบามาเห็นว่า รัฐบาลกลางต้องเข้าแทรกแซงเพื่อหาหนทางลดค่าบริการทั้งระบบ โดยเปลี่ยนวิธีการได้รับค่าบริการหรือค่าจ้างของโรงพยาบาลกับแพทย์ โดยยึดหลักคุณภาพของการบริการแทนจำนวนคนไข้ และกำหนดเวชปฏิบัติหรือแนวทางรักษาที่มีคุณภาพซึ่งจะช่วยกำหนดกรอบค่าใช้จ่าย ตลอดจนลดความสำคัญของระบบการแข่งขันตามกลไกตลาดที่มีระบบการประกันสุขภาพโดยเอกชนเข้ามาแข่งขัน เพราะการแข่งขันในระบบตลาดแบบทุนนิยมเสรีเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงขึ้น จนเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้การเข้าถึงระบบสาธารณสุขเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้มีรายได้น้อย

จากความพยายามที่จะช่วยเหลือคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ ประธานาธิบดีโอบาม่าจึงตัดสินใจครั้งสำคัญในการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศที่มีชื่อเรียกว่า ?โอบาม่าแคร์ (Obamacare)? โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวอเมริกันสามารถเข้าถึงประกันสุขภาพได้ง่ายมากขึ้น พัฒนาคุณภาพของระบบสาธารณสุขและระบบประกันสุขภาพ และออกกฎเกณฑ์ควบคุมอุตสาหกรรมประกันสุขภาพและลดรายจ่ายค่ารักษาในสหรัฐอเมริกา นโยบายโอบาม่าแคร์ได้ปฏิรูปหลายสิ่งในระบบสาธารณสุขอเมริกา โดยให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ สิทธิ และการคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น

โอบาม่าแคร์เป็นกฎหมายปฏิรูประบบสาธารณสุขที่มีลักษณะบังคับให้ประชาชนทุกคนซื้อประกันสุขภาพของรัฐบาล มิฉะนั้นจะถูกปรับเป็นภาษีในปลายปี แม้มาตรการดังกล่าวจะมีผลทำให้ประชาชนที่มีสุขภาพดีและไม่ต้องการประกันสุขภาพจำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพด้วย แต่การประกันภาคบังคับจะทำให้ประชาชนทุกคนในประเทศมีความจำเป็นต้องถือครองประกันสุขภาพของรัฐ เมื่อมีจำนวนผู้เข้าระบบประกันสุขภาพจำนวนมากจะทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยง และทำให้การประกันสุขภาพมีราคาลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้คนยากจนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ดี นโยบายโอบาม่าแคร์มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โอบาม่าแคร์เป็นประเด็นที่ทำให้เกิด ?Government Shutdown? เนื่องมาจากการที่วุฒิสมาชิกไม่เห็นชอบให้ผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี จนทำให้หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ปิดทำการและพนักงานของรัฐประมาณแปดแสนคนไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลา 16 วัน

เมื่อหันกลับมาพิจารณาระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประชาชนเกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้มากกว่าประชาชนอเมริกัน แต่ปัญหาสำคัญของระบบประกันสุขภาพของไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐอเมริกาคือปัญหาความแตกต่างของคุณภาพของการรักษาพยาบาลของระบบประกันสุขภาพต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย ระบบประกันสุขภาพที่รัฐบาลเป็นผู้ประกัน (ระบบประกันสุขภาพข้าราชการและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า) บริษัทเอกชนผู้ว่าจ้างเป็นผู้ประกัน (ระบบประกันสังคม ซึ่งรัฐ นายจ้างและลูกจ้างมีส่วนร่วมจ่ายเงินสมทบ) และการซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพด้วยตัวเอง

กล่าวคือ ระบบประกันสุขภาพของข้าราชการและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีคุณภาพแตกต่างกันมาก ทั้งๆ ที่เป็นระบบที่ใช้งบประมาณจากรัฐบาลเหมือนกัน ในขณะที่ระบบประกันสังคมที่ผู้ประกันตนและนายจ้างมีส่วนร่วมจ่ายสมทบ กลับมีคุณภาพต่ำไม่แตกต่างจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐเป็นผู้จ่ายเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่การซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าจะได้บริการที่มีคุณภาพสูง แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมากจนประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้

ยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (medical hub) ของภูมิภาค และโรงพยาบาลเอกชนเน้นดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในประเทศมากขึ้น จะยิ่งส่งผลทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์จะถูกดึงไปในการให้บริการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการรักษาพยาบาลของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

ประเด็นที่รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญไม่แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา คือ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพของการรักษาพยาบาล และลดความแตกต่างของคุณภาพของระบบประกันสุขภาพต่างๆ ตลอดจนการควบคุมให้การบริการทางการแพทย์มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม และเนื่องด้วยความจำกัดของงบประมาณเช่นเดียวกับสหรัฐ ประเทศไทยจึงอาจเรียนรู้ได้จากหลักการของโอบาม่าแคร์ โดยเฉพาะการเป็นระบบประกันภาคบังคับ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายสมทบ รวมทั้งการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดการบริการสุขภาพ ทั้งนี้ทั้งนั้นแนวทางการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของไทยจำเป็นอาศัยความตั้งใจจริงและความกล้าหาญของผู้กำหนดนโยบาย โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยด้วย

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670x385/cover/477355.jpg