ตัดแปะจากเน็ต? ชะงักงันทางปัญญา

ปัจจุบัน ldquo;อินเทอร์เน็ตrdquo; เป็นเครื่องมือเพื่อการค้นหาข้อมูลความรู้ได้สะดวกรวดเร็ว โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ จึงมีผู้ใช้บริการมากขึ้น ในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการณ์ว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยน่าจะขยายตัวได้อีก โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยประมาณ 9.4 ล้านราย คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10.5 ล้านคนในปี 2551 และในปัจจุบัน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก สำรวจโดย Internet Usage and World Population Statistics (30 กันยายน 2007) พบว่ามีจำนวน 1,244,449,601 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั่วโลก 6,574,666,417 ล้านคน

ระยะหลังนี้ หลายประเทศเกิดความกังวลในการใช้อินเทอร์เน็ตของของประชากร โดยเฉพาะประชากรที่อยู่ในวัยนักเรียนนักศึกษา ที่มีการคัดลอกบทความ งานวิจัย หรือแนวคิด จากอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีการอ้างอิงเท่านั้น แต่ลักษณะการใช้งานของนักเรียนนักศึกษา ยังอาจส่งผลกระทบต่อการสร้างสังคมฐานความรู้ในระยะยาวอีกด้วย เพราะการคัดลอกและตัดแปะ ส่งผลทำให้ทักษะการคิดของผู้เรียนลดลง

ไทยก็ประสบปัญหาการคัดลอกและตัดแปะเช่นเดียวกัน จากงานวิจัยเรื่อง สภาพปัญหาการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารการศึกษา โดย ศ.ดร. เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2549) ได้สุ่มตัวอย่างวิทยานิพนธ์ 70 เล่ม พบว่ามีจำนวน 27 เล่ม มีการคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและผลงานวิจัยผู้อื่น ปัญหาดังนี้จะส่งผลเสียต่อต่อการสร้างองค์ความรู้ของประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน
ผมจึงเห็นไทยควรมีมาตรการป้องกันแก้ไขการตัดแปะจากอินเทอร์เน็ตของผู้เรียน ดังนี้

ศึกษาวิจัยประเด็นอินเทอร์เน็ตกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ประเทศไทยมีงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยใช้อินเทอร์เน็ตไม่มากนัก จึงขาดองค์ความรู้ที่จะนำมาแก้ไขปัญหา ในขณะที่อินเทอร์เน็ตมีเว็บที่ใช้ค้นหาข้อมูลมีมากขึ้น เอื้อให้ผู้เรียนค้นหาและดึงข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่มีการอ้างอิง ดังนั้น รัฐควรสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของนักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะการคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีของผู้อื่นจากอินเทอร์เน็ต รัฐบาลอาจร่วมมือกระทรวงไอซีที เพื่อศึกษาวิจัยค้นหาแนวทางป้องกันและคิดค้นระบบตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

การหาแนวทางเพื่อหยุดพฤติกรรมดังกล่าว องค์การห้องสมุดแห่งอเมริกา (The American Library Association) สถาบันอินเทอร์เน็ตแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford Internet Institute) ศูนย์คอมพิวเตอร์และรับผิดชอบทางสังคม มหาวิทยาลัยเดอ มอนฟอร์ท (The Center for Computing and Social Responsibility, De Montfort University) บริษัทด้านเว็บมาสเตอร์ ในภาคเอกชน จึงได้ร่วมมือกันศึกษาวิจัยสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อนำมากำหนดนโยบายแก้ปัญหาในอนาคต

ตัวอย่างในต่างประเทศ มีการทำวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (2546) โดย มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers University) รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา พบว่า นักศึกษาร้อยละ 50 นิยมคัดลอกและตัดต่อข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตทำเป็นรายงานส่งอาจารย์ เว็บไซต์ที่นักศึกษานิยมใช้งานมากที่สุดคือ กูเกิล (Google) กูเกิล แอนเซอร์ (Google Answer) และวิกิพีเดีย (Wikipedia) เพราะเป็นเว็บไซต์ให้บริการค้นหาข้อมูล มีนักวิจัยอิสระไม่ต่ำกว่า 500 คน คอยให้บริการ ซึ่งข้อมูลที่ได้มักไม่มีการอ้างอิงต้นตอความคิด พฤติกรรมนี้ได้ส่งผลให้นักศึกษาขาดทักษะการคิดมากขึ้น

พัฒนาระบบตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางอินเทอร์เน็ต

การที่จะทราบได้ว่ารายงาน วิทยานิพนธ์ หรืองานวิจัยของนักเรียนนักศึกษามาจากการคัดลอกผลงานของผู้อื่นจากอินเทอร์เน็ตหรือไม่นั้น ประเทศไทยยังไม่มีระบบตรวจสอบ แต่ในมหาวิทยาลัยนอร์ทธัมเบรีย (Northumbria University) รัฐนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ มีระบบในการตรวจสอบแล้ว โดยฝ่าย Academic Management Staff: Associate Dean ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา รวมถึงการตรวจสอบงานวิจัย การทำรายงาน โดยมีโปรแกรมตรวจสอบรายงานนักศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมา นักศึกษาอังกฤษจำนวนมากสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และคัดลอกข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยไม่มีการอ้างอิงที่มา โดยโปรแกรมดังกล่าวสามารถสแกนข้อมูลจากเว็บเพจ ๆ มากกว่า 4.5 พันล้านเว็บเพจ หากพบว่ามีข้อความใดตรงกับรายงาน โปรแกรมจะสร้างแถบสีบอกตำแหน่งข้อความนั้นทันที ซึ่งช่วยลดการคัดลอกและตัดต่อบทความและงานวิจัยของนักศึกษา ซึ่งประเทศไทยอาจจะศึกษาโปรแกรมการตรวจสอบจากมหาวิทยาลัยนอร์ทธัมเบรีย และนำมาพัฒนาและปรับใช้ในประเทศ

ปลูกฝังจิตสำนึกการให้เกียรติผลงานผู้อื่น

การป้องกันปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่ก็ตาม ควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังทัศนคติการเคารพและให้เกียรติความคิดและผลงานผู้อื่นตั้งแต่ยังเด็ก โดยกระทรวงศึกษาธิการควรสร้างจิตสำนึกนี้ในผู้เรียนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาทิ เมื่อผู้เรียนทำรายงานส่ง ครูต้องสอนวิธีการอ้างอิงที่ถูกต้องด้วย และย้ำให้ถึงโทษตามกฎหมายเมื่อผู้เรียนคัดลอกผลงานผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง

การคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎี และไม่มีการอ้างอิงนั้น ไม่เพียงผิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น ยังก่อให้เกิดความถดถอยของการสร้างสังคมฐานความรู้ในประเทศไทยอีกด้วย โดยเฉพาะปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น และเอื้อให้เกิดการละเมิดทรัพย์ทางปัญญาได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้น การศึกษาวิจัย การสร้างระบบตรวจสอบการคัดลอก และการสร้างจิตสำนึกการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับสังคมไทย
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-11-14