มาตรการปราบวุฒิการศึกษาปลอม

จากกระแสข่าวที่ว่า มีสถานศึกษาที่ออกวุฒิการศึกษาปลอมในประเทศไทย มีทั้งหมด 202 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษา ประเภทพาณิชยการ สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) วิทยาลัยเทคนิค สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)

ในประเทศไทยระดับการศึกษาที่มีการปลอมวุฒิการศึกษามากที่สุด คือ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปวช. และ ปวส. เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ในขณะที่ต่างประเทศ อย่างเกาหลีใต้ ที่มีข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า ผู้มีชื่อเสียงในเกาหลีหลายคนปลอมวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นระดับการศึกษาที่สูง ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ผู้กำกับหนัง สถาปนิกชื่อดัง นักเขียนการ์ตูน พ่อครัวชื่อดัง ดาราชั้นแนวหน้า ผู้ประกาศข่าว แม้กระทั่งพระสงฆ์ที่ประชาชนเคารพนับถือ

ปัญหาเศรษฐกิจ
: สาเหตุการปลอมวุฒิการศึกษาในเกาหลีใต้

การปลอมวุฒิการศึกษาในเกาหลี มีปัจจัยสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย เมื่อปลายทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้มีงานเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ตอนนี้งานหายากขึ้น ประกอบกับในทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทในเกาหลีใต้ ต้องแข่งกับประเทศไฮเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น และประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอย่างจีน จึงต้องลดการจ้างพนักงานใหม่ลง และเปิดรับเฉพาะพนักงานที่มีความรู้ความสามารถมากที่สุดเท่านั้น แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ จะมีระบบการทดสอบเพื่อให้ได้ผู้สมัครที่มีความรู้ความสามารถเหมาะกับงานมากที่สุด แต่วุฒิการศึกษาระดับปริญญามีอิทธิพลมากที่สุดในการตัดสินใจรับพนักงาน อีกทั้ง บริษัทในเกาหลีไม่มีระบบตรวจสอบประวัติการศึกษา จึงมีการปลอมวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเป็นจำนวนมาก บางคนอ้างว่ามาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ โดยวุฒิปริญญาจากสหรัฐฯ มีผลต่อการรับเข้าทำงานมากที่สุด

ประกอบกับสังคมเกาหลีให้การยอมรับผู้ที่มีการศึกษาสูง จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การปลอมวุฒิการศึกษาระบาดไปถึงวงการบันเทิง สื่อมวลชน นักวิชาการ แม้กระทั่งวงการศาสนา ปัญหาดังกล่าว ทำให้อัยการ ตำรวจ กระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่การศึกษาท้องถิ่นในเกาหลีใต้ต่างตื่นตัว และประกาศแผนเพื่อยุติปัญหาการปลอมวุฒิการศึกษา และมีการเรียกร้องให้มีระบบตรวจสอบวุฒิการศึกษาที่รัดกุมขึ้น

ปัญหาและทางแก้การปลอมวุฒิการศึกษาในประเทศไทย

สภาพปัญหาการปลอมวุฒิในประเทศไทย อาจถือได้ว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยในช่วงปี 2544-2549 มสธ. ได้เพิกถอนปริญญาบัตรไปกว่า 416 ราย และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้เพิกถอนสถานภาพนักศึกษาประมาณ 1,100 ราย เนื่องจากใช้วุฒิการศึกษาปลอมมาสมัครเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้วิเคราะห์สาเหตุการปลอมวุฒิการศึกษาไว้ 2 สาเหตุ คือ
การบังคับโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ช่วงที่มีการปลอมวุฒิการศึกษากันมาก อยู่ในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต้องมีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ทำให้การปลอมวุฒิแพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่ต้องการวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้วุฒิปริญญาตรี แต่ปัญหานี้อาจลดลง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ได้ระบุให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีวุฒิปริญญาตรี แต่ปัญหาอาจมีอยู่ไป ในกรณีผู้ที่ต้องการวุฒิการศึกษาเพื่อสมัครงาน

อำนาจการควบคุมไปไม่ถึงต่างจังหวัด
การปลอมวุฒิการศึกษา ส่วนหนึ่งมาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเปิดสถานศึกษาเอกชน เพราะตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดให้การอนุมัติเปิดปิดสถานศึกษาในต่างจังหวัด เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เฉพาะสถานศึกษาในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) แต่ในขณะเดียวกัน สถานศึกษาเอกชนในต่างจังหวัดได้รับการละเลย ทำให้มีการปลอมวุฒิการศึกษาได้ง่าย

มาตรการทางกฎหมาย: แนวทางแก้ไขการปลอมวุฒิการศึกษาในไทย

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. hellip;. เป็นกฎหมายสถานศึกษาเอกชนฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว คาดว่าสามารถส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและประกาศใช้ได้ภายในปี 2550 นี้

ผมขอเสนอ 4 มาตรการในการแก้ปัญหาการปลอมวุฒิการศึกษา ดังนี้

มาตรการแรก ควบคุมการปลอมวุฒิฯ สถานศึกษาเอกชน โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. hellip;. จะเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และบังคับใช้ภายในปีนี้ ผมเห็นว่า ในร่าง ฯ ควรให้ความสำคัญในประเด็นดังนี้ คือ กำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อผู้เรียนที่ซื้อวุฒิการศึกษา และสถานศึกษาที่ออกวุฒิการศึกษาปลอม กรณีที่สถานศึกษาออกวุฒิการศึกษาปลอม ต้องลงโทษทั้งจำและปรับหรือปิดกิจการ อีกทั้ง ต้องจ่ายค่าปรับเพื่อชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น จ่ายค่าเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่ายอื่นแก่สถานประกอบการหรือสถานศึกษาที่รับผู้เรียนใช้วุฒิการศึกษาปลอมเข้าไปและถูกตรวจสอบพบควบคุมคุณภาพสถานศึกษาเอกชน ให้เป็นไปตามกำหนด คือ มีความพร้อมและคุณภาพ ไม่ควรให้เปิดไปและปรับปรุงไป และควรมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเป็นหนูทดลอง และใช้เป็นช่องทางปลอมวุฒิการศึกษา เข้มงวดการเปิดและปิดสถานศึกษา การเปิดสถานศึกษา ต้องผ่านกระบวนการที่เข้มงวดเพื่อให้ได้คุณภาพ และหากสถานศึกษาใดถูกปิด ต้องควบคุมไม่ให้เปิดดำเนินการหากไม่พร้อม และไม่ควรให้มีการขอซื้อใบอนุญาตเปิดสถานศึกษาเดิมที่หยุดกิจการไปดำเนินการต่อโดยไม่มีการตรวจสอบ เพราะอาจเป็นช่องทางให้มีการเปิดสถานศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ และอาจเป็นแหล่งปลอมแปลงวุฒิการศึกษาได้

มาตรการที่สอง สร้างฐานข้อมูลกลางผู้เรียนย้อนหลัง 10 ปี กระทรวงศึกษาธิการควรพัฒนาฐานข้อมูล ที่รวบรวมรายชื่อผู้เรียนที่จบจากสถานศึกษาต่าง ๆ ย้อนหลัง และรายชื่อผู้เรียนใหม่ทุกปี เพื่อให้สถานศึกษา และสถานประกอบการต่าง ๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบ โดยเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว
มาตรการที่สาม ส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเป็นเหยี่ยวข่าว กระทรวงศึกษาธิการควรเปิดโอกาสให้ประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมให้ข้อมูลและเฝ้าระวังการปลอมวุฒิฯ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำวุฒิการศึกษาปลอม สถานศึกษาที่ให้วุฒิการศึกษาปลอม โดยเปิดช่องทางส่งข้อมูลต่าง ๆ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ จดหมาย และโทรศัพท์ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตั้งรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส โดยไปปรับจากสถานศึกษาหรือกลุ่มผู้กระทำการปลอมวุฒิการศึกษา

มาตรการที่สี่ สร้างค่านิยมปฏิเสธใช้วุฒิการศึกษาปลอม
กระทรวงศึกษาควรกำหนดมาตรการที่จริงจังแก่ผู้ซื้อวุฒิฯ ปลอม โดยการปรับโทษอย่างหนักโดยดำเนินการทั้งจำและปรับให้หนัก ต้องมีการขึ้นเป็นรายชื่อแบล็คลิส (black list) แก่ผู้ที่ซื้อวุฒิฯ เช่น ลงประกาศในอินเทอร์เน็ต หรือในฐานข้อมูลกลางผู้เรียนอย่างน้อย 5 ปีติดต่อกันจึงลบออก เพื่อมิให้มีผู้กล้าซื้อวุฒิฯ ปลอม เพราะหากไม่มีความต้องการ (demand) หรือความต้องการลดลง ก็ย่อมทำให้ลดการสนับสนุน (supply) การปลอมวุฒิฯ ไปในที่สุด

การปลอมวุฒิการศึกษาในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน การแก้ปัญหาไม่ใช่มุ่งที่ปลายเหตุด้วยการจับผู้ซื้อวุฒิเท่านั้น แต่ต้องลงลึกที่รากปัญหา และหาแนวทางดำเนินการเรื่องนี้อย่างครบวงจร เพื่อสามารถแก้ปัญหาการปลอมวุฒิการศึกษาได้จริง
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ: 
2007-11-08