พูดจากใจ ต้องไม่อ่อนซ้อม

ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ถ้าเราต้องการพูดเพื่อจูงใจผู้ฟังให้เกิดการคล้อยตาม วิธีสื่อสารที่มีพลังมากที่สุด คือ การสื่อสารโดยไม่ต้องมีบทพูด

ทว่า..การสื่อสารโดยไม่มีบทพูดนั้น ถ้ามิใช่นักพูดอาชีพ หรือผู้พูดที่สูงด้วยประสบการณ์แล้ว ย่อมเรียกว่าเป็น ldquo;งานยากrdquo; หากไม่มีการเตรียมพร้อม หรือ ซักซ้อม มาเป็นอย่างดี

การเตรียมพร้อมก่อนการพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ความพร้อมของเราจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า การพูดจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด สิ่งที่ควรทำนั้น เริ่มตั้งแต่....

เลือกเรื่องที่มั่นใจ
เราจำเป็นต้องเลือกเรื่องมั่นใจว่ามีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดี เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้เราสื่อสารออกมาได้อย่างลื่นไหล ที่สำคัญ จำไว้ว่า ความรู้เป็นอาวุธที่น่าเชื่อถือมากที่สุด คนฟังมีแนวโน้มคล้อยตามและเชื่อถือในคำพูดของเราจากความรู้ที่เรามี

พูดไม่นานเกินไป
ในการพูดโดยไม่มีบทพูดนั้น ในช่วงเริ่มต้นไม่ควรยาวเกินไป ควรมีความยาวประมาณ 3-4 นาที หรืออย่างมากไม่เกิน 5 นาที กำลังเหมาะสม

เขียนทุกอย่างที่อยากพูด
ให้เราเขียนสิ่งที่ต้องการพูดออกมาให้หมด เราต้องการสื่อสารอะไร ขึ้นต้นด้วยอะไร เนื้อหาเป็นอย่างไร บทสรุปจะพูดอย่างไร โดยพยายามเรียงลำดับเรื่องที่ต้องการพูดให้น่าสนใจ อาจมีการยกคำคม สถิติ หรือเรื่องเล่าที่น่าสนใจประกอบด้วย

ในการเขียนให้ตัดข้อความที่จะพูดออกเป็นประโยคสั้น ๆ เพื่อให้จำง่าย และแต่ละย่อหน้านั้นต้องสั้น กระชับ มีใจความสำคัญที่ต้องการสื่อสารเพียงประเด็นเดียว โดยให้ประโยคแรกของทุก ๆ ย่อหน้าเป็นประเด็นสำคัญที่สุด และเป็นประโยคที่เราต้องจำ ที่สำคัญให้เราขีดเส้นใต้ หรือทำเครื่องหมาย คำสำคัญ เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำ

ซ้อมพูดให้หนัก
เนื่องจากเราต้องพูดโดยไม่มีบทพูด จึงจำเป็นต้องท่องแบบทวนซ้ำหลาย ๆ ครั้ง การพูดโดยไม่มีบทพูด จะเกิดความชำนาญ หากเราได้ฝึกบ่อย ๆ เหมือนนักแสดงที่ต้องท่องสคริปต์จนคล่อง และเมื่อถึงเวลาแสดง ต้องแสดงออกมาใจ ให้เสมือนหนึ่งเป็นตัวละครนั้นเอง วิธีการท่องจำ ให้ ท่องจำทีละย่อหน้า

เริ่มจากย่อหน้าแรก ใช้วิธีอ่านออกเสียงดัง ๆ ซ้ำ ๆ หลายครั้ง หลังจากนั้นให้พูดโดยไม่ต้องดู จนรู้สึกว่ามั่นใจว่า ภาพตัวหนังสือทั้งหมดนั้นอยู่ในความคิดของเรา ร้อยเรียงครบถ้วนอย่างสมบูรณ์
ให้ทำวิธีการเดียวกันกับย่อหน้าถัดไป แต่หลังจากที่จำย่อหน้าที่สองได้แล้ว ให้ทบทวนใหม่โดยเริ่มพูดตั้งแต่ย่อหน้าที่หนึ่งและสอง เมื่อรู้สึกมั่นใจแล้ว ให้ฝึกท่องย่อหน้าต่อไปจนขึ้นใจ จากนั้นพูดทวนย่อหน้าที่หนึ่ง สอง และสาม ทำเช่นเดียวกันกับย่อหน้าต่อ ๆ ไปจนจบ

การฝึกพูดออกมาดัง ๆ ทำให้เราได้ยินข้อความที่ต้องการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยในการจดจำ ยิ่งถ้าเราพูดซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบ จะทำให้เราจำได้ว่าช่วงไหนจะพูดอะไร และจะต้องพูดอย่างไร

ที่สำคัญ อย่าเพียงพูดไปเรื่อย ๆ เวลาพูดอย่าเหมือนกับการท่องจำ แต่ให้ดูเป็นธรรมชาติ มีการใส่อารมณ์ และท่าทางไปด้วย

ทบทวนในความคิดเสมอ
เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความจำของเรา โดยตลอดเวลาที่มีเวลาว่าง ให้เราท่องสิ่งที่เราต้องการพูด หรือคิดถึงตัวหนังสือที่ต้องการพูดที่ขึ้นมาอยู่ในความคิดเราเรื่อย ๆ

ตั้งวันซ้อมใหญ่
วันก่อนที่จะพูด ให้ถือเป็น วันซ้อมใหญ่ ลองพูดเหมือนจริง โดยมีการจับเวลา และการบันทึกเสียง หลังจากพูดจบ ให้กลับมาฟังเพื่อประเมินและปรับปรุง จนรู้สึกมั่นใจเมื่อวันที่ต้องพูดจริงมาถึง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันพูดจริง ๆ เราอาจจดโน้ตเล็ก ๆ ที่เขียนเฉพาะ หัวข้อ คำคมของบุคคลสำคัญ ตัวเลขสถิติที่ต้องการอ้างถึง เพื่อความรอบคอบป้องกันการลืมขณะพูด
การซักซ้อมอย่างจริงจังนี้ จะช่วยพัฒนาทั้งในเรื่องของการเขียนบทพูด การฝึกทักษะการพูด การพัฒนาบุคลิกภาพ ซึ่งหากเรามีโอกาสได้พูดต่อหน้าสาธารณะโดยไม่มีบทพูดบ่อย ๆ ย่อมทำให้เรามั่นใจและเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น
admin
เผยแพร่: 
งานวันนี้
เมื่อ: 
2007-11-06