หยุดพฤติกรรม!!! ตัดแปะจากเน็ต


* ที่มาของภาพ
http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/44/3044/images/CITY/070329-signs.jpg


นักเรียนนักศึกษาทั่วโลกต่างยอมรับว่า ldquo;อินเทอร์เน็ตrdquo; เป็นเครื่องมือสืบค้นข้อมูลที่ดีที่สุด เพราะผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้และสืบค้นข้อมูลได้รวดเร็ว ทั้งไม่จำกัดเวลาและสถานที่ แต่ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของนักเรียนนักศึกษา อาทิ การคัดลอกบทความ งานวิจัย หรือแนวคิด โดยไม่มีการอ้างอิง

จากงานวิจัยเรื่อง สภาพปัญหาการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารการศึกษา โดย ศ.ดร. เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2549) ได้สุ่มตัวอย่างวิทยานิพนธ์ 70 เล่ม พบว่ามีจำนวน 27 เล่ม ที่มีการคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและผลงานวิจัยผู้อื่น ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการสร้างองค์ความรู้ของประเทศในอนาคต

ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยควรมีการป้องกันการตัดแปะจากอินเทอร์เน็ตของนักเรียนนักศึกษา ดังนี้

ศึกษาวิจัยหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา

รัฐอาจตั้งศูนย์วิจัยทางเทคโนโลยีหรือร่วมมือกระทรวงไอซีที เพื่อศึกษาวิจัยค้นหาแนวทางป้องกันและคิดค้นระบบตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของนักเรียนนักศึกษา โดยการคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีของผู้อื่นจากอินเทอร์เน็ต และไม่มีการอ้างอิง มีตัวอย่างจากประเทศสหรัฐฯ โดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers University) รัฐนิวเจอร์ซี ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับ พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (2546) พบว่า นักศึกษาร้อยละ 50 นิยมคัดลอกและตัดต่อข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตทำเป็นรายงานส่งอาจารย์ โดยเว็บไซต์ที่นักศึกษานิยมเข้าไปค้นข้อมูลมากที่สุด คือ กูเกิล (Google) กูเกิล แอนเซอร์ (Google Answer) และวิกิพีเดีย (Wikipedia) เพราะเป็นเว็บไซต์ให้บริการค้นหาข้อมูล มีนักวิจัยอิสระคอยให้บริการ พฤติกรรมนี้ส่งผลให้นักศึกษาขาดทักษะการคิดมากขึ้น

หลายองค์กรในสหรัฐฯ ได้มาร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว โดยองค์การห้องสมุดแห่งอเมริกา (The American Library Association) สถาบันอินเทอร์เน็ตแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford Internet Institute) ศูนย์คอมพิวเตอร์และรับผิดชอบทางสังคม มหาวิทยาลัยเดอ มอนฟอร์ท (The Center for Computing and Social Responsibility, De Montfort University) บริษัทด้านเว็บมาสเตอร์ ในภาคเอกชน ได้ร่วมมือศึกษาวิจัยสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อนำมากำหนดนโยบาย

พัฒนาระบบตรวจสอบคัดลอกงานผู้อื่น

รัฐบาลไทยควรมีระบบการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่สามารถสแกนข้อมูลจากเว็บไซต์ทั่วโลก ที่นำเสนอผลงานวิชาการ บทความ งานวิจัย และแนวคิดต่าง ๆ เพื่อนำมาตรวจสอบรายงาน วิทยานิพนธ์ ของนักศึกษา และผลงานวิจัยที่มีอยู่ในประเทศไทย มีตัวอย่างจากประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยนอร์ทธัมเบรีย (Northumbria University) รัฐนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ มีฝ่าย Academic Management Staff: Associate Dean ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา รวมถึงการตรวจสอบเนื้อหารายงานและงานวิจัยของนักศึกษา การตรวจสอบได้พบว่า มีนักศึกษาอังกฤษจำนวนมากคัดลอกข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยไม่มีการอ้างอิงที่มา โดยทางมหาวิทยาลัยได้ใช้โปรแกรมตรวจสอบรายงานนักศึกษา ซึ่งสามารถสแกนข้อมูลจากเว็บเพจ ๆ มากกว่า 4.5 พันล้านเว็บเพจ หากพบว่ามีข้อความใดตรงกับรายงาน โปรแกรมจะสร้างแถบสีบอกตำแหน่งข้อความนั้นทันที ซึ่งช่วยลดการคัดลอกและตัดต่อบทความและงานวิจัยของนักศึกษา

พัฒนาจิตสำนึกอ้างอิงความคิดผู้อื่น

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกการอ้างอิงผลงาน และการให้เกียรติความคิดของผู้อื่นแก่ผู้เรียน ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาทิ เมื่อผู้เรียนทำรายงานส่ง ควรกำชับว่าหากนำเอาบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีของใครมา ให้อ้างอิงชื่อผู้เขียน ชื่อเรื่อง สำนักพิมพ์/โรงพิมพ์ ปีที่พิมพ์ หากเป็นข้อมูลที่มาจากเว็บไซต์ ให้อ้างอิงเว็บไซต์ดังกล่าวมาด้วย โดยครูควรสอนวิธีอ้างอิงที่ถูกต้อง และย้ำให้ถึงโทษตามกฎหมายเมื่อผู้เรียนคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง

การคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎี และไม่มีการอ้างอิง เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งส่งผลให้เกิดความถดถอยของการสร้างองค์ความรู้ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเอื้อให้เกิดการละเมิดทรัพย์ทางปัญญาได้มากขึ้น ดังนั้น การศึกษาวิจัย การสร้างระบบตรวจสอบการคัดลอก และการสร้างจิตสำนึกการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน

แสดงความคิดเห็น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-11-12