ปฏิรูปการฝึกอบรมครู ด้วยกลไกตลาด

การปฏิรูปการศึกษากลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมต.ว่าการกระทรวงศึกษาคนใหม่เข้ามาทำงาน ที่ผ่านมาได้มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาเพื่อระดมความคิดเห็นในนโยบายและมาตรการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาสู่การปฏิบัติ ที่จังหวัดเพชรบุรี

ประเด็นที่ผมสนใจมากคือ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กำหนดไว้ว่า การอบรมครูต้องมีความสมดุลมากขึ้น ซึ่งในที่ประชุมเห็นว่าการอบรมต้องมีลักษณะเป็นคอร์สมากขึ้น กำหนดให้ครูมีช่วงเวลาการในการอบรม และสร้างเครือข่ายในการพัฒนาครู ผมเห็นด้วยกับแนวทางที่ที่ประชุมได้เสนอ

หลายปีก่อนหน้านี้ผมได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการฝึกอบรมครู โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การใช้
ldquo;กลไกตลาด (market mechanism)rdquo; โดยให้มีการสร้างอุปสงค์ (demand) และ อุปทาน (supply)
ของการฝึกอบรม เพื่อกำหนดปริมาณ รูปแบบ ลักษณะ และราคาของการฝึกอบรม ซึ่งมีแนวทางที่เสนอไป ดังนี้

การจัดการด้านอุปสงค์ของตลาดการฝึกอบรม
โดยสร้างคลังหลักสูตร และใช้ระบบ module ให้ครูแต่ละคนเลือกรายวิชาต่าง ๆ ที่ตนสนใจเรียนจากคลังหลักสูตร เพื่อมาประกอบกันเป็นหลักสูตร ที่เฉพาะสำหรับครูแต่ละคน ซึ่งช่วยให้ครูได้เรียนในวิชาที่สนใจ และตรงตามความต้องการที่แท้จริง โดยรัฐบาลควรกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของครูแต่ละตำแหน่ง อาทิ กำหนดคุณสมบัติของบุคลากรแต่ละตำแหน่งว่าควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ด้านความรู้ เกณฑ์ด้านทักษะความสามารถ เกณฑ์ด้านลักษณะชีวิตและคุณธรรม จริยธรรม และเกณฑ์ด้านบุคลิกภาพ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ครูแต่ละคนเลือกรายวิชาที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และพัฒนาจุดที่ตนเองบกพร่อง ทั้งนี้อาจจัดให้มีที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำว่า แต่ละคนควรเลือกจัด module ของตนเองอย่างไร

การจัดการด้านอุปทานของตลาดการฝึกอบรม
โดยการสร้างการแข่งขันระหว่างหน่วยงานที่ให้การฝึกอบรม โดยครูแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานในสังกัดของตนเท่านั้น และอนุญาตให้แสวงหาการฝึกอบรมจากหน่วยงานอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน หากหน่วยงานใดสามารถจัดฝึกอบรมได้ดี มีวิชาที่น่าสนใจ มีวิทยากรที่มีคุณภาพ มีวิธีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติที่นำไปใช้ในการทำงานได้จริง ย่อมจะดึงดูดผู้รับการฝึกอบรมได้มาก ทั้งนี้รัฐบาลอาจพิจารณาเกี่ยวกับการแยกหน่วยงานฝึกอบรมของรัฐให้ทำงานได้อย่างเป็นอิสระและคล่องตัวในการแข่งขัน แต่ยังคงเป็นส่วนราชการ และได้งบประมาณการจัดฝึกอบรมจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าเดิม โดยพึ่งพิงรายได้จากการฝึกอบรมเป็นหลัก ยกเว้นวิชาที่จำเป็นและมีต้นทุนสูงรัฐอาจให้การอุดหนุนมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้รัฐบาลอาจกำหนดให้มีหน่วยงานกลางเพื่อตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของวิชาที่แต่ละหน่วยงานเสนอให้การฝึกอบรม เพื่อรักษามาตรฐานของการฝึกอบรม

ทั้งนี้งบประมาณที่ครูแต่ละคนจะได้รับเพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรม รัฐบาลอาจจัดตั้งในรูปของ
ldquo;กองทุนเพื่อการพัฒนาครูrdquo; และอาจจะจัดเป็นคูปองเพื่อให้ครูแต่ละคนสามารถนำไปใช้ในการฝึกอบรมได้ในแต่ละปี โดยจัดสรรงบฝึกอบรมเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เงินฝึกอบรมที่พิจารณาจากความจำเป็นที่ครูแต่ละคนควรได้รับ โดยได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้างาน ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาด้านการฝึกอบรม ส่วนที่สองเป็นเงินที่ครูทุกคนจะได้รับเพื่อให้มีสิทธิเลือกใช้สำหรับการฝึกอบรมตามความต้องการของตนเอง หากครูไม่ใช้สิทธิในการฝึกอบรม เงินจำนวนดังกล่าวจะสะสมเข้ากองทุน ส่วนค่าใช้จ่ายของการฝึกอบรมที่เกินจากสิทธิที่แต่ละคนได้รับ ครูจะต้องออกเอง นอกจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อกระตุ้นให้ครูมีความปรารถนารับการฝึกอบรมมากขึ้น เช่น การใช้การฝึกรมเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนขั้นและเงินเดือน

กรอบแนวคิดใหม่ในการฝึกอบรมครูนี้ ผมมุ่งหวังที่จะสร้างกลไกใหม่เพื่อช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบัน และกระตุ้นให้ครูตื่นตัวในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แนวทางใหม่ที่นำเสนอนี้ น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยให้ครูมีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องพึงระลึกเสมอว่าการฝึกอบรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นเราจึงควรใช้แนวทางอื่นควบคู่ไปด้วย

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-10-03