ถอยหลังหรือเดินหน้าปฏิรูปการเงินอุดมศึกษาไทย

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547เห็นชอบในหลักการและแนวทางการปฏิรูปการเงินอุดมศึกษา โดยให้ปรับรูปแบบจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดิม มาเป็น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) หรือ ICL

ลักษณะที่แตกต่าง
กันของ กยศ. และ กรอ. คือ กยศ. กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิในการกู้ยืม คือ เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมไม่เกินจำนวน 150,000 บาทต่อปี ผู้กู้สามารถกู้เงินได้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) จนถึงระดับปริญญาตรี ในขณะที่ กรอ.เปิดโอกาสให้ผู้ที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษาทุกคนสามารถกู้ยืมเงินได้ และมีกองทุนเงินให้เปล่า เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ศึกษาในระดับมัธยมปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) ที่ยากจน

การปฏิรูปการเงินอุดมศึกษารูปแบบใหม่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี
2549 ให้กับ กรอ. สำหรับนักศึกษาปีที่ 1แต่สำหรับนักศึกษาปี 2,3 และ 4ยังคงใช้รูปแบบกองทุนเดิม คือ กยศ. ขณะที่ผู้ที่ศึกษาในระดับ ม.ปลาย ที่ยากจน จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเงินให้เปล่า แทนการกู้ยืมจาก กยศ.

หากมองอย่างผิวเผินการปฏิรูปการเงินอุดมศึกษาน่าจะเริ่มดำเนินการได้อย่างไร้อุปสรรค
แต่เมื่อพิจารณาวงเงินงบประมาณที่แต่ละกองทุนได้รับการจัดสรร พบว่า กยศ. เสนอของบประมาณไป 25,110 ล้านบาท ได้รับการจัดสรร 25,108.9240 ล้านบาท ขณะที่ กรอ. เสนอของบประมาณ 6,450 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรร 4,803.2682 ล้านบาท ส่วนกองทุนเงินให้เปล่า เสนอของบฯ 4,400 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 689.97 ล้านบาท น้อยกว่าที่เสนอขอถึง 3,710.03 ล้านบาท

คำถามที่เกิดขึ้น
คือ จำนวนเงินที่กองทุนเงินให้เปล่าได้รับจะครอบคลุมความช่วยเหลือนักเรียนยากจนในระดับ ม.ปลายได้อย่างไร การจัดสรรเงินน้อยมากจะเป็นการปิดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเด็กยากจนหรือไม่ แม้ว่าการศึกษาระดับ ม.ปลายจะได้รับการอุดหนุนการศึกษาร้อยละ 100 จากรัฐบาล แต่เป็นการอุดหนุนเฉพาะค่าเล่าเรียน ไม่ได้รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว
ซึ่งกองทุนเงินให้เปล่าให้ความช่วยเหลือ

ผมจึงเห็นว่าการปฏิรูปการเงินอุดมศึกษากำลังถอยหลัง มากกว่าเดินหน้า เพราะในขณะที่กองทุนเงินให้เปล่าสำหรับเด็กยากจน ถูกตัดงบประมาณถึงร้อยละ
84.32 ของงบที่เสนอขอ แต่ กรอ. ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับนักเรียนในทุกระดับฐานะ ทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ซึ่งไม่ใช่การศึกษาขั้นพื้นฐาน กลับถูกตัดงบเพียงร้อยละ 25.53 ของงบที่เสนอขอ ลักษณะดังกล่าวเข้าข่าย การปิดโอกาสคนยากจนที่ควรมีสิทธิได้เรียนตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถในการจ่ายมาเบียดบังเงินของคนยากจน

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-07-25