สร้างจุดแกร่งให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ผมได้มีโอกาสร่วมเสนอความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 2 แห่ง ประเด็นหนึ่งที่ผมให้ความสนใจและได้เสนอในที่ประชุมคือ การให้มหาวิทยาลัย พัฒนาตามความรอบรู้ และความชำนาญของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ การให้แต่ละมหาวิทยาลัย ได้ค้นหาจุดแกร่ง ความเชี่ยวชาญเจาะจงของแต่ละมหาวิทยาลัย และให้น้ำหนักทุ่มเททรัพยากร ที่มีอยู่เพื่อพัฒนา ต่อยอดความรู้ในด้านนั้น ๆ จนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ และขยายขอบเขตไปในระดับนานาชาติได้ อันจะมีส่วนสนับสนุนการผลิตกำลังคน และองค์ความรู้ในจุดแกร่ง ที่จะมีส่วนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทิ้งคณะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จุดแกร่งไป แต่ยังคงไว้ เพื่อให้เป็นทางเลือกที่หลากหลายแก่ผู้เรียน

สำหรับเหตุผลที่ผมเห็นว่ามีความจำเป็นและสำคัญ ที่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะต้องค้นหาจุดแกร่ง และพัฒนาตามความรอบรู้ และความชำนาญของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมี
3 เหตุผลด้วยกันคือ

เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีความจำกัดในด้านงบประมาณ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนั้นการให้มหาวิทยาลัยมุ่งพัฒนาจุดแกร่งนั้น จะทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีทิศทาง เป้าหมายที่ชัดเจน ในการใช้ทรัพยากรที่ในการพัฒนาการจัดการศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเจาะจง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


เพื่อยกระดับคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา
การที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ แข่งขันกันเปิดสาขาที่ผู้เรียนให้ความนิยม แม้มิได้เป็นความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยนั้นเลย ส่งผลทำให้มีผู้จบการศึกษาในบางสาขามากเกินความต้องการของตลาดแรงงาน และยังเป็นผลผลิตที่คุณภาพต่ำอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม การที่มหาวิทยาลัยเน้นการพัฒนาตามจุดแข็งของตนเองจนมีความโดดเด่น จะส่งผลทำให้คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาดังกล่าวเพิ่มขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมปริมาณการผลิตกำลังคนได้ง่ายขึ้น โดยผ่านกลไกการจัดสรรงบประมาณอย่างเจาะจงไปยังสาขาที่เป็นจุดแกร่งของแต่ละมหาวิทยาลัย

เพื่อสร้าง ldquo;ความสามารถในการแข่งขันrdquo; และสร้าง ldquo;จุดขายrdquo; ให้แก่มหาวิทยาลัย การพยายามทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีจุดแกร่งแต่ละด้านที่แตกต่างกัน เป็นการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยให้แข่งขันได้ในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยต้องเปิดเสรีทางการศึกษา ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างจุดขายที่สามารถดึงดูดนักเรียนต่างชาติ ให้เข้ามาศึกษาต่อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศมากขึ้น

แนวทางดังกล่าว เป็นแนวทางที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ขับเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ ที่ไม่เพียงส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการอุดมศึกษาไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการปูทางสู่อนาคตข้างหน้า ที่จะทำให้การอุดมศึกษาของไทยได้เปรียบ ในการเปิดเสรีทางการศึกษากับนานาประเทศอีกด้วย

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-06-23