เมืองใหม่สุวรรณภูมิ

ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2548 มีการประชุมเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (นครสุวรรณภูมิ) พ.ศ. hellip;. โดยกำหนดพื้นให้ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ อ.บางพลี อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และเขตประเวศ และเขตลาดกระบัง กทม.โดยจะทำให้เป็นเขตปกครองพิเศษ และเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศ คาดว่าจะเสร็จในอีก 10 ปีข้างหน้า ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาท แต่การประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แต่ล่าสุดท่านนายกฯ ได้ออกมากล่าวว่าขณะนี้กำลังร่างเป็น พ.ร.บ. เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะทำประชาพิจารณ์ แล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

การร่างกฎหมายก่อนที่จะมีทำประชาพิจารณ์ถามความคิดเห็นประชาชน และศึกษาผลกระทบที่ตามมานั้น ออกจะเป็นเรื่องแปลก และไม่ยุติธรรมกับประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย

แม้ว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 214 วรรคแรก การทำประชาพิจารณ์ไม่ได้มีผลอะไรต่อการตัดสินใจของรัฐ ldquo;ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าในกิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้ วรรคสอง การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามวรรคหนึ่งซึ่งมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ในการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้ วรรคเจ็ด การออกเสียงประชามติตามมาตรานี้ให้มีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นrdquo;

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 76 ได้บัญญัติให้รัฐต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อดำรงไว้ซึ่งธรรมเนียมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอยู่บ้าง คือ ldquo;รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับrdquo;

กรณีนครสุวรรณภูมิ สะท้อนว่า รัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมากเท่าที่ควร เพราะหากรัฐบาลเห็นความสำคัญประชาชนจริง ก่อนการร่างกฎหมายต้องปรึกษาประชาชน โดยระดมความคิดเห็นจากประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจะมีการเปิดเวทีให้ประชาชนรับรู้ถึงผลดี ผลเสีย และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่คาดว่าจะเกิดในพื้นที่นครสุวรรณภูมิ และที่สำคัญควรมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พร้อมหาวิธีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ สนับสนุนได้อย่างเต็มใจ แต่การร่างกฎหมายไว้ก่อน แล้วทำประชาพิจารณ์ทีหลัง เท่ากับเป็นการใส่ใจในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน แต่อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และอ้างมติของสภาฯ ที่มีเสียง ส.ส. ในที่ประชุมสภาฯ ที่พร้อมจะสนับสนุนเกินครึ่งอยู่แล้ว

ในวันที่ 29 ต.ค. กทม.จะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อฟังเสียงประชาชน แม้ว่าจะไม่มีผลใด ๆ ต่อการตัดสินใจของรัฐบาลก็ตาม แต่ถ้าผลของประชาพิจารณ์เสียงส่วนใหญ่ออกมาว่าสนับสนุน ประโยชน์จะตกกับรัฐบาลที่จะนำมาอ้างความชอบธรรมให้กับตนเองได้ ในทางตรงกันข้าม หากเสียงส่วนใหญ่คัดค้าน ตรงนี้จะเป็นพลังประชาชนในการชะลอการตัดสินใจของรัฐบาลได้บ้าง จนกว่าที่รัฐบาลจะทำสิ่งที่ยุติธรรมต่อประชาชน คือ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการตัดสินใจใด ๆ

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-10-22