แก้ปัญหาความยากจนหรือ ?กู้คะแนนเสียง?

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 48 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรองนายกรัฐมนตรีในวันดังกล่าว ในที่ประชุมนายกฯ มีแนวความคิดใหม่ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยเลือกพื้นที่อำเภอใดอำเภอหนึ่ง เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงไปทำงานและพักค้างแรมเป็นเวลา 7-10 วัน ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีการจัดสรรงบประมาณ SML ลงไปแล้ว โดยนายกฯจะไปร่วมคิดร่วมทำ และติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน เป็นการบูรณาการการแก้ปัญหาความยากจนกับประชาชนในพื้นที่ โดยจะใช้ช่วงเวลาประมาณกลางเดือน ม.ค. 2549

ผมคิดเห็นว่าแนวคิดที่ออกมาเช่นนี้ รัฐบาลไม่ได้ต้องการสร้างต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือตั้งใจจะแก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงความพยายามเรียกคะแนนเสียงคืนมากกว่า

ไม่จำเป็นที่นายกต้องลงไปดำเนินการเอง เนื่องจากนายกฯมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลงานในภาพรวม ไม่ใช่ผู้ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติเอง ผมไม่คิดว่านายกฯจะปฏิบัติได้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น และถึงแม้นายกฯจะปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ดีที่สุด แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องลงไปทำเองเป็นเวลานาน ๆ หากมีคนอื่นที่ทำได้ เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาของประเทศอีกมากที่มีจำเป็นเร่งด่วนและมีความต้องการให้นายกฯเข้าไปแก้ไขมากกว่า เช่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ปัญหาไข้หวัดนก เป็นต้น การลำดับความสำคัญที่ผิดพลาดเช่นนี้ขัดแย้งกับหลักการบริหารที่ดี ซึ่งจะมีเหตุผลอื่นใดมิได้นอกจากเหตุผลทางการเมือง

ไม่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างครบถ้วน เนื่องจากนายกฯจะลงไปทำงานในพื้นที่แห่งเดียวเป็นเวลาหลายวัน แต่จะมีการลงพื้นที่รูปแบบเดียวกันนี้อีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับโอกาสและสถานที่ที่เอื้ออำนวย ผมเห็นว่าการลงไปทำงานเพียงจุดเดียว หรือบางช่วงเวลาเท่านั้นไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ SML มีอยู่ทั่วประเทศ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะให้เหตุผลว่าเป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบของพื้นที่อื่น ๆ แต่ผมคิดว่าการจัดทำโครงการนำร่องต้องทำหลายพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบของพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน การทำโครงการนำร่องพื้นที่เดียวไม่สามารถเป็นต้นแบบให้กับทุกพื้นที่ได้ รวมทั้งจะต้องดำเนินการมากกว่า 7-10 วันจึงจะสามารถดำเนินการและประเมินผลได้อย่างครบถ้วน หรือหากเป็นเพียงการลงไปให้แนวคิดและคำแนะนำกับชาวบ้าน ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 7-10 วัน

ต้องยอมรับว่าเวลานี้เป็นช่วงที่ประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลาง เริ่มไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในหลายเรื่อง รัฐบาลจำเป็นต้องหาวิธีการเพื่อรักษาเสียงประชาชน โดยใช้ปัญหาความยากจนเป็นตัวหลัก เพื่อดึงฐานเสียงประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่กว่า ให้ยังคงสนับสนุนรัฐบาลต่อไป การลงไปอยู่กับชาวบ้านเป็นเวลานาน ๆ จึงเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ปัญหาความยากจนได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-11-30