ค่านิยมฮาร์วาร์ด : ผู้เรียนมุ่งมั่นแสวงความรู้

ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
คำกล่าวต้อนรับนักศึกษาใหม่และผู้ปกครอง โดยอธิการบดี ดรูว์ กิลพิน เฟาสต์rdquo; (Drew Gilpin Faust) ในโอกาสเปิดภาคการศึกษาใหม่ ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ผมได้ข้อคิดจากคำแสดงความคาดหวังที่ระบบการศึกษาของฮาร์วาร์ด จะกระตุ้นผู้เรียน เห็นคุณค่าการเรียนรู้ และใช้เวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างมีคุณค่า เพื่อจบออกไปอย่างมีคุณภาพและพัฒนาสังคมต่อไป

สิ่งที่อธิการบดี เฟาสต์ กล่าวในวันนั้น เป็นทั้งการแนะนำการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ และยังเป็นการสร้างบันดาลใจแก่นักศึกษาใหม่ในการใช้ความรู้เพื่อพัฒนาสังคม
ผมขอสะท้อนความคิดเหล่านั้น เพื่อจุดประกายแก่นักเรียน นักศึกษา รวมถึงระบบการศึกษาไทย ที่จะต่อยอดและนำค่านิยมที่ดีเหล่านี้ไปใช้
เรียนอย่างมีจุดมุ่งหมาย เติมฝันตามความถนัด ความสนใจ
กลยุทธ์อันชาญฉลาดในการเริ่มต้นกระตุ้นให้นักศึกษาเริ่มคิดอย่างไม่ธรรมดา โดยให้นักศึกษาใหม่ใช้เวลา 1-2 นาที เพื่อตอบคำถามว่า ldquo;อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้แต่ละคนเลือกมาเรียนที่ฮาร์วาร์ด และจะใช้แรงบันดาลใจเหล่านั้นในการพัฒนาตนเองตลอด 4 ปีได้อย่างไรrdquo; ซึ่งเป็นคำถามย้อนกลับ แทนคำถามที่อาจอยู่ในใจของผู้ปกครอง นักศึกษาหลายคนว่า เหตุใดมหาวิทยาลัยจึงเลือกคนเหล่านั้นเข้ามา

คำเฉลยของคำถามนี้ ท่านอธิการบดีเฟาต์ได้บอกเป็นนัยว่า การค้นพบความต้องการของตนเองตั้งแต่แรกที่นักศึกษาตัดสินใจเลือกเรียนอะไร มีจุดมุ่งหมายใดในชีวิตนั้น มหาวิทยาลัยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำความฝันให้สำเร็จ ผ่านทรัพยากรที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ สิ่งสำคัญคือ ผู้เรียนต้องค้นหาหนทางที่จะสานฝัน และเข้าไปค้นพบสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเอง ผ่านการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน

ตักตวงประสบการณ์เต็มที่ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพัฒนาตนเอง

อธิการบดีเฟาต์ได้เชิญชวน นักศึกษาตักตวงประสบการณ์จากชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ผ่านการเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของมหาวิทยาลัยที่มีพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็น ห้องสมุด คณาจารย์ แหล่งความรู้ งานวิจัยจากคณะและวิทยาลัยต่าง ๆ เครือข่ายลูกศิษย์ พันธมิตรในการวิจัยที่มีอยู่ทั่วโลก เป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้รอคนเข้ามาค้นพบ
ประชาคมในมหาวิทยาลัย จึงถูกคาดหวังและปลูกฝังให้มีลักษณะที่เป็นทั้งผู้เรียนและครูซึ่งกันและกัน ทุกคนจะมีโอกาสเรียนรู้ที่จะแบกรับความเสี่ยงและได้รับรางวัลจากการใช้ชีวิตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย กล่าวคือ นักศึกษา บุคลากรการวิจัย คณาจารย์ ล้วนสามารถเรียนรู้ ค้นคว้า จากสิ่งที่อยู่รอบตัว แม้ว่าบางครั้งอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทุกอย่างจะเป็นบทเรียน ให้เกิดการก่ายกันขึ้นทางวิชาการของคนรุ่นต่อไป
สะท้อนคิดสู่นักเรียน นักศึกษาของไทย ผมเห็นว่า ความสำเร็จในการเรียนนั้น ไม่ได้ขึ้นกับว่า นักศึกษาได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเพียงอย่างเดียว ปัจจัยหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ เริ่มจากมีเป้าหมายในการเรียนที่ถูกต้อง เพราะหากเริ่มต้นได้ถูกต้อง ย่อมจะนำนักศึกษาไปสู่ความสำเร็จในการเรียนและการใช้ชีวิตในอนาคตได้ในที่สุด

การที่นักศึกษาเข้าใจความหมายที่ถูกต้องของความสำเร็จด้านการเรียน จะเป็นแนวทางในการกำหนดเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงของนักศึกษาแต่ละคนได้ ซึ่งผมเคยนิยามถึงเป้าหมายการเรียนที่ถูกต้อง คือ "การตระหนัก เห็นคุณค่าของการเรียน โดยมีเป้าหมายเพื่อรู้ถึงแก่นแท้และพรมแดนความรู้ในเรื่องนั้น ทั้งรู้รอบเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น และรู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนั้น พร้อมกับมีความสามารถในการแปลงความรู้สู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นหรือสังคมเป็นหลัก"

วันนี้จึงไม่สำคัญว่าเราเข้าเรียนในคณะใด สาขาใด สถาบันใด เพราะสำคัญมากกว่านั้นคือการมีความเข้าใจในความสำเร็จที่ถูกต้อง และเริ่มต้นด้วยการมีเป้าหมายที่ถูกต้องในการเรียน เพราะการมีเป้าหมายที่ถูกต้อง ชัดเจน ย่อมนำพานักศึกษาไปสู่วิถีแห่งความสำเร็จได้ไม่ยาก แม้จะมีปัญหาความยากลำบากหรืออุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-10-19