พัฒนาการอุดมศึกษาให้รองรับ E-learning

จากกระแสตอบรับการขยายตัวของระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-learning ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสและความสะดวกให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งพยายามจัดหลักสูตร e-learning เอง หรือสร้างเครือข่ายร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหรือกับหน่วยงานอื่น เช่น มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thailand Cyber Uniniversity: TCU) ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยจะเริ่มเปิดสอนเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศกระทรวงเรื่อง ldquo;หลักเกณฑ์การขอเปิดและดำเนินการหลักสูตรระดับปริญญาในระบบการศึกษาทางไกล พ.ศ. 2548rdquo; ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2548 เป็นต้นมา เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาแบบ e-learning ให้ได้คุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น

หากแต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลไม่ควรละเลยคือ การพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของการจัดการศึกษาแบบ E-learning โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นช่องทางขยายโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงการอุดมศึกษามากขึ้นไม่ว่าจะเป็น

การสร้างซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา คือ การสร้างโปรแกรมเพื่อทำให้เกิดการถ่ายทอดข้อมูลไปยังผู้เรียนกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการเรียนรู้ให้กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ซอฟต์แวร์แปลภาษา หรือ ซอฟต์แวร์เพื่อกลุ่มคนพิการ เป็นต้น

การสร้างโมดูลทางการศึกษา คือการให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาข้ามมหาวิทยาลัยที่ตนสนใจได้ เช่น สามารถเลือกเรียนวิชาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และเลือกเรียนวิชาการตัดแต่งพันธุกรรมจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาจูเซต (MIT) ไปพร้อมกัน การเลือกวิชาเรียนตามความต้องการของผู้เรียนนี้ ทำได้โดยการสร้างโปรแกรมจัดวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาที่เหมาะสมสอดคล้องตามความต้องการและความสนใจของตน อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบสหวิทยาการจากการบูรณาการวิชาที่เด่นของหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งไปพร้อมกันได้

การพัฒนาการวิจัยทางการศึกษา โดยใช้ระบบสารสนเทศสร้างระบบการจัดการข้อมูลที่ทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ จากทั่วประเทศและโลกไว้ โดยมีช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชา การความคิดเห็น รวมถึงการขยายความร่วมมือทางวิชาการไปทั่วโลก ผ่านเว็บไซต์ หรือไอคอนถามตอบ ทำให้เกิด ปฎิสัมพันธ์ระหว่างฐานข้อมูลและผู้ใช้ที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ เพื่อนำทักษะเหล่านั้นไปใช้ในสภาพจริง เช่น การสร้างห้องเรียน/ห้องทดลองเสมือนจริง การสร้างภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริง เพื่อให้ผู้เรียนทดลองทำโดยไม่ต้องลองสนามจริง โดยเป็นการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาแทนในสภาพแวดล้อมที่มีอันตรายและความเสี่ยงสูง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติจริง

นอกจากนี้รัฐบาลเองควรให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต โดยเตรียมความพร้อมของบุคลากรในแวดวงการศึกษาต่าง ๆ ที่จะรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างผู้มีแต้มต่อ และใช้ในขอบเขตที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้มีนักวิชาการและผู้รู้หลายท่านได้แสดงทัศนะและข้อคิดเห็นไว้หลากหลาย ดังเช่น

การประชุมสมัชชาใหญ่สมาคมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้าน ICT ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกำหนดวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการประชุม เพื่อสร้างความร่วมมือในการยกระดับการนำ ICT ไปใช้และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ (Digital Divide)

นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงทัศนะไว้ในการประชุม การประชุม World Summit on Information Society ที่จัดขึ้นที่ประเทศตูนิส เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ว่าอยากเห็นการประชุมนำมาซึ่งประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ตลอดจนการหาแนวทางที่เฉพาะเจาะจง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ

รวมถึงการเสนอบทความเรื่องไอทีกับภารกิจด้านการเรียนการสอนในอนาคต โดย ดร.นลินี ทวีสิน ซึ่งทำงานด้านการวางยุทธศาสตร์ การวางแผนและการพัฒนาด้าน e-learning มานาน ได้แสดงให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนในสังคมต่างมีความห่วงใยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ เพื่อให้คนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และเทคโนโลยีและความรู้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-01-10