ทำอย่างไรไทยจึงได้รับประโยชน์จากการทำ FTA กับนิวซีแลนด์

FTA ไทย-นิวซีแลนด์ต้องไม่มุ่งเพียงการค้าและการลงทุนเพียงประเด็นเดียว เพราะไทยยังเสียเปรียบอยู่มาก ทางออกคือ รัฐบาลควรเร่งปรับโครงสร้างไปสู่การผลิตที่แข่งขันได้ และให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่ม เพื่อไทยจะได้รับประโยชน์จากความรู้ วิทยาการ ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อม จากการที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-นิวซีแลนด์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ..ที่ผ่านมา มีเพื่อนบางคนได้ให้ผมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจากข้อตกลงดังกล่าว ผมจึงขออนุญาตที่จะแบ่งปันความคิดของผมให้กับเพื่อนทุกท่านได้ทราบด้วย

ในความเห็นของผม ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการทำ
FTA กับนิวซีแลนด์ ไม่มากนัก และจะน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับที่นิวซีแลนด์ได้รับจากไทย เนื่องจากขนาดการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและนิวซีแลนด์มีมูลค่าไม่มากนัก ประเทศไทยต้องลดอัตราภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยมากกว่าที่นิวซีแลนด์ลดภาษีให้กับไทย รวมทั้งไทยยังต้องลดการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งมีมากกว่านิวซีแลนด์ นอกจากนี้การที่ไทยมีประชากรมากกว่านิวซีแลนด์จะส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดส่งออกได้น้อยกว่านิวซีแลนด์

การทำ
FTA
ที่ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรบางรายการซึ่งนิวซีแลนด์มีศักยภาพในการผลิตสูง และเป็นรายการอ่อนไหวของไทย โดยเฉพาะเนื้อวัว นมและผลิตภัณฑ์นม ประกอบกับผลการทำ FTA กับออสเตรเลีย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่มีศักยภาพสูงทั้งจากออสเตรเลียและจากนิวซีแลนด์ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นหากไม่มีโอกาสในการพัฒนาให้แข่งขันได้แล้ว รัฐควรเตรียมการโยกย้ายผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนม ไปสู่การผลิตสินค้าอื่นที่มีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าเสียแต่เนิ่น ๆ

อย่างไรก็ตาม การทำ
FTA โดยมุ่งเน้นแต่เรื่องการค้าและการลงทุนอาจทำให้ไทยไม่ได้ประโยชน์มากนัก ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านอื่น ๆ ในประเด็นที่ประเทศไทยจะเป็นประโยชน์อย่างมากนั่นคือ ความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม

เหตุผลคือ นิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิงแวดล้อมมาก รัฐบาลของนิวซีแลนด์ตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับนานาประเทศ สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ ดังเห็นได้จากพระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากร (Resource Management Act) ที่บังคับใช้ในปี 1991 ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่จัดการเกี่ยวกับปัญหาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้นิวซีแลนด์ ยังมียุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดจากการผสมผสานระหว่างการค้าและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ นิวซีแลนด์ยังมีบทบาทอย่างแข็งขันในเวทีการประชุมระดับนานาชาติที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

ดังนั้นการที่ไทยสร้างความร่วมมือกับนิวซีแลนด์ในธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศ ที่สามารถอาศัยความรู้ วิทยาการ ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมของนิวซีแลนด์ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยที่เป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา ที่ทำให้ทรัพยากรในประเทศและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงมาก ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญมากขึ้น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-07-24