เรียลลิตี้โชว์แก้จน จัดฉากแก้รัฐบาลขาลง

ในที่สุดเรียลลิตี้โชว์แก้จนของท่านนายกฯได้ฤกษ์ลงจอทางช่องยูบีซี 16 โดยมีหลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความเห็นในมุมมองต่าง ๆ อาทิ การถ่ายทอดสดการแก้ปัญหาความยากจนเป็นเพียงการจัดฉาก เป็นความพยายามเรียก คะแนนนิยมทางการเมืองในภาวะขาลง เป็นเพียงการกลบข่าวทุจริต เป็นการแทรกแซงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเป็นแนวทางที่ไม่อาจทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนบรรลุผล ฯลฯ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการปฏิบัติตาม นโยบายแก้ปัญหาความยากจน แต่ผมเห็นว่าการทำเช่นนี้ ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหา ความยากจน เนื่องจาก

ประการแรก พื้นที่โครงการนำร่องไม่ได้เป็นตัวแทนของพื้นที่ที่ยากจนทั้งประเทศ รัฐบาลไม่ได้ทำการศึกษาอย่างชัดเจนว่า ควรเลือกพื้นที่ใดในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจน แต่การเลือกอำเภออาจสามารถเพื่อที่จะจัดทำเรียลลิตี้โชว์ครั้งนี้ มีเหตุผลเพียงเพราะมีชื่อที่ดีและเพื่อเสริมดวงของท่านนายกฯเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเลือกพื้นที่โครงการนำร่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้พิจารณาจากความเป็นตัวแทนของพื้นที่ยากจนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่และแต่ละภูมิภาคของประเทศนั้น มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แบบอย่างการทำงานเพื่อแก้ไขความยากจนในอำเภออาจสามารถ จึงอาจไม่สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในพื้นที่อื่น ๆ ได้

ประการที่สอง ระยะเวลาการดำเนินโครงการนำร่องไม่เพียงพอ เพราะปัญหาความยากจนเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน และต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานในการแก้ไขปัญหา แต่การที่นายกฯใช้เวลาเพียง 5 วันในการลงไปแสดงแบบอย่างของการแก้ไขปัญหา จึงไม่สามารถให้คำยืนยันได้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง หรือสามารถสอนให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่นในการปฏิบัติตามได้ เพราะการทำงานในระยะยาวย่อมมีความแตกต่างหรือมีพลวัตของปัญหามากกว่าการทำงานในระยะสั้น

ประการที่สาม เงื่อนไขของการแก้ไขความยากจนแตกต่างจากการปฏิบัติงานจริง เพราะการที่นายกฯลงไปทำโครงการนำร่องในครั้งนี้นั้น มีกลไก บุคลากร และทรัพยากรที่เพียบพร้อมมากกว่าการปฏิบัติงานจริงอย่างมหาศาล เพราะนายกฯมีอำนาจสูงสุด สามารถสั่งการให้องคาพยพต่าง ๆ ขับเคลื่อนได้ง่ายกว่าผู้ปฏิบัติงานจริงที่มีอำนาจจำกัด ขณะที่กลไก ทรัพยากรและบุคลากรที่ติดตามมาเป็นทีมงานของท่านายกฯ ล้วนเป็นผู้บริหารในระดับสูงของกระทรวงกรมกองต่าง ๆ ประกอบกับการที่นายกฯลงมาปฏิบัติงานย่อมได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากกว่า ดังนั้นการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ปัญหาความยากจนในโครงการนำร่องนี้จึงได้รับการผลักดันอย่างรวดเร็วมากกว่าการทำงานในพื้นที่จริง

ประการที่สี่ ขาดกระบวนการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานในโครงการนำร่อง การจัดทำโครงการนำร่องครั้งนี้ ผมยังไม่เห็นการเตรียมกลไกหรือระบบในการประเมินผลการปฏิบัติงานในโครงการนำร่องของท่านนายกฯและทีมงาน เพื่อนำไปเป็นบทเรียนและแบบอย่างในการดำเนินการของโครงการอื่น ๆ ผมไม่เชื่อว่าสิ่งที่นายกฯได้แสดงในรายการเรียลลิตี้โชว์แก้จนนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะนายกฯเองไม่เคยนำวิธีนี้ไปใช้ในการแก้ไขความยากจนในพื้นที่ใด และไม่เคยมีผลยืนยันว่าการดำเนินการเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้จริง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมด ผมจึงเห็นว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นโครงการนำร่อง และไม่สามารถจะนำไปแบบอย่างให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ ผมจึงฟันธงว่าการทำเรียลลิตี้โชว์แก้จนในครั้งนี้เป็นเพียง ldquo;การจัดฉากrdquo; เท่านั้น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-01-19