ควรกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรจึงเกิดประสิทธิผล

รัฐบาลกำลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ขาดความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการด้านการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกับมาตรการด้านการเงินเพื่อทำให้การบริหารเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2550 เติบโตต่ำกว่าร้อยละ 4

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 4.5 เหลือร้อยละ 4.0 ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 ในครั้งนี้ถือเป็นการผ่อนคลายนโยบายทางด้านการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า อยู่ที่ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่เงินเฟ้อ

ในส่วนของกระทรวงการคลังมีการเตรียมออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ อิเล็คทรอนิกส์ และยานยนต์ รวมถึงเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมการสร้างงาน และคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกไปอีก 1 ปี

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันยังมีผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจเพื่อการบริโภคและการลงทุน การนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้จึงควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขของสังคมไทยในปัจจุบันเป็นสำคัญ

ข้อควรคำนึงในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ผมเห็นว่า การใช้นโยบายการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมาตรการที่มีความจำเป็น ทั้งในส่วนของการลดอัตราดอกเบี้ยหรือการคงอัตราภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินในระดับต่ำ แต่อาจไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้ เพราะถึงแม้ว่าจะกระตุ้นการบริโภคได้บ้าง แต่จะไม่กระตุ้นการลงทุนได้มากนัก หากปัญหาทางการเมืองและความไม่มั่นใจในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลยังคงมีอยู่ ขณะที่ประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาลจะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากหรือน้อยเพียงใด
ขณะที่ข้อเสนอแนะให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละมาก ๆ เพียงครั้งเดียว จะต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ เนื่องจากการลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรงอาจจะทำให้เงินทุนไหลออกมากเกินไปจนทำให้ค่าเงินผันผวน และถึงแม้ว่าอาจจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระดับมหภาค แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับจุลภาค และความเป็นธรรมระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ เพราะจะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เสียประโยชน์ อาทิ ผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้จากเงินออม ลูกหนี้ที่กู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ ผู้นำเข้า ผู้ที่มีหนี้ต่างประเทศ ฯลฯ

รัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรจึงเกิดประสิทธิผล

คำถามสำคัญคือรัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรจึงเกิดประสิทธิผล ท่ามกลางปัญหาทางการเมืองและความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล

ผมเห็นว่า ภาครัฐจำเป็นจะต้องเป็นผู้ลงทุนหลัก แม้การกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการบ้าง แต่อาจไม่ใช่แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับการลงทุน แต่ในภาวะที่การลงทุนภาคเอกชนตกต่ำจากการขาดความเชื่อมั่น รัฐบาลต้องเร่งดำเนินโครงการลงทุนต่าง ๆ โดยเร็ว และประกาศแผนการดำเนินการอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินโครงการใดบ้าง ใช้เงินลงทุนเท่าไร และจะเริ่มดำเนินการเมื่อใด

รัฐบาลควรดูดซับสภาพคล่องในระบบเพื่อนำเงินมาลงทุน เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เกิดสภาพคล่องล้นระบบ ด้วยเหตุที่ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต ทำให้ไม่กล้าลงทุนหรือใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน แม้ดอกเบี้ยจะลดลงต่ำสุดแล้วก็ตาม ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มทางเลือกในการออมให้กับประชาชน โดยการออกพันธบัตรกู้เงินจากประชาชน เพื่อนำมาลงทุนในโครงการของรัฐ

สุดท้าย รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับผลกระทบจากปัญหาการว่างงานของแรงงานจบใหม่และแรงงานนอกระบบ ซึ่งผมเห็นว่าการสร้างงานโดยรัฐนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่การให้บริการสังคมสงเคราะห์นั้นแม้จำเป็นแต่จะไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาว ผมจึงเห็นว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาพัฒนาคุณภาพแรงงานด้วย อาทิ การลดภาษีธุรกิจด้านการศึกษาและการฝึกอบรม การลดหย่อนภาษีแก่บริษัทที่เพิ่มการฝึกอบรมพนักงาน นับเป็นการกระตุ้นการลงทุนในการเสริมสร้างทุนมนุษย์ ซึ่งดีกว่าการนำไปใช้จ่ายเพื่อบริโภคเพียงเท่านั้น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-04-17