สถานศึกษา?บ่มเพาะ ?ปัญญา? ไม่ใช่ ?ความรุนแรง?

เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์ที่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ใช้ไม้ติดตะปูตีศีรษะครู เพราะโกรธแค้นที่ครูดุด่าและใช้ไม้เรียวตีใบหน้าตนต่อหน้าเพื่อน ในเบื้องต้นได้ตั้งข้อหานักเรียนคนดังกล่าว ว่าทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และส่งตัวไปสถานยังพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ความรุนแรงในสถานศึกษาเช่นนี้ มิได้เพิ่งเคยเกิดเป็นครั้งแรก แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีทั้งที่เป็นเหตุการณ์นักเรียนทำร้ายกันเอง นักเรียนทำร้ายครู และครูทำร้ายนักเรียน

ผลการศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน เมื่อปี 2549 ของโครงการส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองสุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า มีเด็กจำนวนร้อยละ 68.6 ถูกเพื่อนรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง หรือมากกว่า และร้อยละ 20 ถูกรังแกสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ในลักษณะของการด่าทอ การกลั่นแกล้ง การแย่งสิ่งของ การข่มขู่ และการทำร้ายร่างกาย

ขณะที่ครูส่วนใหญ่ มักจะใช้วิธีลงโทษผู้เรียนที่ก่อความรุนแรงหรือทำความผิดด้วยการตี เนื่องด้วยคิดเห็นว่าการตีเป็นวิธีที่สามารถควบคุมเด็กได้ นอกจากนี้ ยังใช้วิธีลงโทษด้วยการทำร้ายจิตใจ เช่น สบประมาท เพิกเฉย ดูถูก ไม่พูดด้วย ฯลฯ จากผลการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนทุกระดับในจังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2549 ของสมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุดรธานี พบว่าการลงโทษของครูกว่าร้อยละ 77.3 ลงโทษด้วยการตี ร้อยละ 68.9 ใช้วิธีการตะคอกใส่นักเรียน และร้อยละ 54.1 ใช้คำพูด สบประมาท ดูถูก ประชดประชัน และมีนักเรียนร้อยละ 8 ถูกครูทำโทษอย่างรุนแรงโดยไม่มีเหตุผลอันควร

หากปล่อยให้การลงโทษของครูด้วยวิธีการดังกล่าว โดยไม่แก้ไขอาจส่งผลเกิดการบ่มเพาะการใช้ความรุนแรงในผู้เรียนได้ แต่ก่อนอื่นคงต้องมาวิเคราะห์สาเหตุในการเกิดปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา
สาเหตุการเกิดความรุนแรงในสถานศึกษา มี 2 กรณีคือ
สาเหตุที่เด็กก่อความรุนแรงและทำผิดhellip;ครอบครัว เกม และสื่อมวลชน ผู้เรียนที่ก่อปัญหาความรุนแรงหรือกระทำผิด ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น นักจิตวิทยาหลายท่านนำเสนองานวิชาการและวิจัยไว้ว่า ครอบครัวมีผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งทางบวกและลบ ตั้งแต่เด็กจนโต ในกรณีที่ครอบครัวเลี้ยงดูแบบลงโทษรุนแรงและแบบเผด็จการ จะส่งผลให้เด็กมองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้วางใจผู้อื่น เก็บกด และก้าวร้าว และในกรณีที่เด็กอยู่ในครอบครัวที่มีสัมพันธภาพไม่ดี เกิดความขัดแย้งในครอบครัวเป็นประจำ และเสี่ยงจะแตกแยก เด็กจะเครียด สุขภาพจิตเสื่อม มองโลกแง่ร้าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว ฯลฯ และไม่เพียงแต่สภาพครอบครัวเท่านั้นที่เป็นสาเหตุการใช้ความรุนแรง แต่เกมคอมพิวเตอร์และการนำเสนอของสื่อมวลชนเป็นปัจจัยสาเหตุสำคัญ ข้อมูลจากการโครง Child Watch ของสถาบันรามจิตติ ได้สำรวจพฤติกรรมเยาวชนไทยพบว่า เด็กในโรงเรียนร้อยละ 10 หรือ ประมาณ 7 แสนคน มีพฤติกรรมก่อความรุนแรง ตั้งตัวเป็นแก๊งข่มขู่ทำร้ายเพื่อน ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากเกมคอมพิวเตอร์ ละคร และภาพยนต์ที่มีเนื้อหารุนแรง

สาเหตุที่ครูใช้ความรุนแรงhellip;
ปัญหาอารมณ์จิตใจ ขาดทักษะการแก้ปัญหา อำนาจนิยมศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้วิเคราะห์สาเหตุที่ครูใช้วิธีทำโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงว่า มาจาก 2 สาเหตุ คือ สาเหตุแรกครูมีความผิดปกติด้านจิตใจและอารมณ์ เมื่อเกิดความเครียด ซึ่งอาจมาจากปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ฯลฯ อาจระบายสู่เด็กผ่านวิธีลงโทษหรือต่อว่า สาเหตุที่สองครูขาดทักษะการจัดการหรือการแก้ปัญหาผู้เรียน ครูจำนวนมากยังเชื่อว่าวิธีลงโทษด้วยการตีเป็นวิธีเดียวที่ได้ผล แต่ไม่ได้พัฒนาวิธีลงโทษหรือปรับพฤติกรรมเด็กด้วยวิธีอื่น นอกจากนี้ ครูมักไม่ฟังเหตุผลของเด็ก ซึ่งในเรื่องนี้ มีความคิดเห็นจากผู้ที่ทำงานด้านเด็กมองว่า โรงเรียนไทยส่วนใหญ่มีโครงสร้างแบบอำนาจนิยมและศักดินา การบริหารแบบแนวดิ่ง ส่งผลให้ครูจำนวนมากมีพฤติกรรมใช้อำนาจกับเด็ก ประกอบกับการเรียนการสอนจำนวนมากเป็นการสื่อสารทางเดียว การแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างครูกับนักเรียนยังมีน้อย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครูขาดทักษะการฟังซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้าใจผู้เรียน

แนวทางแก้ปัญหาและป้องกันการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา

พัฒนา ทดสอบ ความรู้ด้านจิตวิทยาและทักษะอารมณ์
ปัจจุบันมีครูจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ด้านจิตวิทยา ครูส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทำโทษเด็กที่ก่อความรุนแรงหรือทำความผิดด้วยการตีหรือการดุด่ามากกว่าการอธิบายด้วยเหตุผล เพราะครูได้รับรู้วิธีการนี้มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักเรียน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรปรับปรุงการพัฒนาครู โดยเพิ่มเติมในเรื่องจิตวิทยาและทักษะอารมณ์ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา จนกระทั่งถึงช่วงที่ประกอบอาชีพครู

นักศึกษาครูทุกคนควรได้เรียนวิชาจิตวิทยาการสอน จิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาพัฒนาการ และทักษะอารมณ์
ก่อนไปประกอบวิชาชีพครู นักศึกษาทุกคนต้องได้รับการทดสอบความรู้จิตวิทยาและทักษะทางอารมณ์ เช่น การควบคุมอารมณ์ การจัดการปัญหานักเรียนโดยการใช้เหตุผล การเป็นผู้ฟังที่ดี การเปิดกว้างทางความคิด ฯลฯ หากใครไม่ผ่านจะไม่สามารถไปประกอบวิชาชีพครูได้

ครูประจำการทุกคนต้องผ่านการทดสอบและประเมินผลสภาพจิตใจและอารมณ์
โดยมีการทดสอบและประเมินผลเป็นระยะ อีกทั้งควรมีการสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของครู เพื่อหาทางบรรเทาปัญหาให้ครู เพื่อป้องกันไม่ให้ครูระบายอารมณ์กับนักเรียนเมื่อเกิดความเครียด นอกจากนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรจัดให้มีการให้ความรู้และการพัฒนาจิตวิทยาเด็ก และการลงโทษเด็กที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ครู
นักเรียนควรได้รับการทดสอบและประเมินผลทักษะทางอารมณ์ทุกช่วงชั้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาและผลิตบุคลากรสู่สังคม โดยพัฒนาวิธีทดสอบในแต่ละช่วงชั้นที่ได้มาตรฐานและแม่นยำ นอกจากนี้ ต้องมีระบบการติดตามผลหรือส่งผลต่อไปยังระดับการศึกษาที่สูงขึ้น หรือเมื่อเปลี่ยนสถานศึกษา เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบระยะยาว อันจะมีผลต่อการปรับพฤติกรรมให้ไปในทางที่เหมาะสม

ร่วมมือกับนักจิตวิทยาแก้ปัญหาและป้องกันใช้ความรุนแรง
สถานศึกษาร่วมมือกับนักจิตวิทยาพัฒนาการหรือนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อมาอบรมครูแนะแนว ครูประจำชั้น และครูฝ่ายปกครอง ให้เข้าใจสภาพของผู้เรียน รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาและการลงโทษในกลุ่มเด็กที่แตกต่างกัน ทั้งความแตกต่างในแต่ละช่วงอายุ ระดับสติปัญญาสูงต่ำไม่เท่ากัน บุคลิกภาพไม่เหมือนกัน และมีพื้นฐานด้านครอบครัวที่มีสภาพการเลี้ยงดูที่ต่างกัน เพื่อให้ครูมีความเข้าใจและรู้จักวิธีแก้ปัญหารวมถึงการลงโทษที่เหมาะสม จะช่วยให้ครูหลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยการตีหรือใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ โดยอาจทำคู่มือสำหรับครูในการแก้ปัญหาและการลงโทษเด็กที่เหมาะสม โดยแยกวิธีแก้ปัญหาและลงโทษในกลุ่มเด็กที่มีพื้นฐานต่างกัน

ให้ความรู้ครอบครัวมีส่วนร่วมดูแลและแก้ไขพฤติกรรมใช้ความรุนแรงในเด็ก
ควรมีช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมบุตรหลานสู่สถานศึกษา และจากสถานศึกษาสู่ผู้ปกครอง ควรมีระบบการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลสอดส่อง และการแก้ไขพฤติกรรมเด็กที่เหมาะสม โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงใช้ความรุนแรง รวมถึงการหาแนวทางที่จะทำให้พ่อแม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็ก ขอบข่ายของวิธีการลงโทษเด็กที่ไม่เกินกว่าเหตุ เพื่อปกป้องสิทธิเด็กไม่ให้ถูกกระทำความรุนแรงภายในสถานศึกษา อันจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาและป้องกันพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในเด็กได้

พัฒนาระบบการลงโทษในสถานศึกษาที่ได้มาตรฐาน
สถานศึกษาจำเป็นจะต้องมีระบบการลงโทษผู้เรียนท่ได้มาตรฐาน โดยมีการลงโทษอย่างเป็นขั้นตอนและยุติธรรม ทั้งความผิดระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครู โดยไม่ควรให้ครูคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินลงโทษนักเรียน เช่น อาจให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง แต่ควรมีหลายฝ่ายเข้าร่วมพิจารณา เช่น ผู้ปกครอง ครูประจำชั้น ครูแนะแนว เพื่อนสนิท นักจิตวิทยาในพื้นที่ ฯลฯ โดยปรับภาพลักษณ์ของครูฝ่ายปกครองที่มีความเอื้ออาทร สามารถเป็นที่พึ่งได้ และมีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง

การพัฒนาผู้เรียนโดยเฉพาะในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน มิได้มุ่งเฉพาะการพัฒนาความรู้และทักษะทางวิชาการเท่านั้น แต่จำเป็นต้องวางรากฐานด้านการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ รวมถึงมีบทบาทแก้ปัญหาการปรับพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในผู้เรียนที่นับวันจะมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันสถานศึกษาเองก็ไม่ควรจะเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหาพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงสู่ผู้เรียนเช่นกัน

ผมขอให้กำลังใจแก่ครูและสถานศึกษาในการสร้างคน ซึ่งผมรู้ว่าเป็นงานที่หนักหน่วงในการรับผิดชอบชีวิตผู้เรียน แต่ผมเชื่อว่าเรือจ้างทุกท่านจะสามารถนำพาเด็กไปตามนาวาที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกรากได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการหามาตรการที่สามารถคลายปมปัญหาอันเป็นสาเหตุหลักของความรุนแรง เพื่อลดความรุนแรงในสถานศึกษา
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-10-04