ทำอย่างไรให้ T-ITV เป็นทีวีเสรี

ในที่สุดสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีสามารถออกอากาศรายการต่าง ๆ ได้ตามปกติ โดยมีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้เข้ามาบริหารสถานีโทรทัศน์ระบบยูเฮชเอฟแทนบริษัท ไอทีวี

การที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ามาบริหารสถานี เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไป แต่โจทย์สำคัญยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ ใครจะเป็นผู้เข้ามารับสัมปทานจาก สปน.เพื่อทำให้เป็นทีวีเสรี ไม่ถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ ตามเจตนารมณ์การจัดตั้งสถานีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

ในขณะนี้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายต่อทิศทางทีไอทีวี ส่วนหนึ่งของความเห็น มองว่าควรจะจัดตั้งองค์กรอิสระเข้ามาดูแลคลื่นความถี่เพื่อให้มีการดำเนินการแบบสถานีโทรทัศน์บีบีซี (BBC) ของประเทศอังกฤษ แม้ว่า วิธีการดังกล่าวจะเป็นแนวทางออกที่ดี แต่สิ่งที่พึงระวัง คือ การป้องกันไม่ให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงาน เหมือนองค์กรอิสระอื่น ๆ เช่นในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว จนกลายเป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต

ความเห็นของคนอีกส่วนหนึ่งมองว่า การเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลสัมปทานต่อจากบริษัท ไอทีวี จำกัด
(มหาชน) จะสามารถดำเนินการให้เกิดทีวีเสรีได้มากกว่าการที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นความจริงที่ว่า หากบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ จะช่วยแก้ปัญหาการแทรกแซงจากรัฐได้ระดับหนึ่ง และลดการใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมากได้ รวมถึงมีโอกาสที่จะเกิดทีวีเสรีได้มากกว่าการให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ามาบริหารจัดการ เพราะกรมประชาสัมพันธ์ย่อมทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลมากกว่านำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรงและเป็นกลางให้ประชาชนได้รับทราบ

แต่สิ่งที่ควรระวัง คือ บริษัทเอกชนที่สามารถประมูลสัมปทานคลื่นความถี่ได้ ต้องเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวโยงกับการเมือง เห็นได้จาก กรณีบริษัท ไอทีวี จำกัด
(มหาชน) ที่กลายเป็นกระบอกเสียงเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แทนที่จะเป็นกระบอกเสียงเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้น ผมเสนอแนวทางในการสร้างทีวีเสรีอีกทางหนึ่ง ที่ไม่ใช่การทำให้เกิดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรงและเป็นกลางโดยตรง แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนสามารถเลือกบริโภคข้อมูลข่าวสารได้หลากหลาย ไม่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ให้
ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารอย่างไร

โดยการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหารกิจการสถานี แต่แยกอำนาจในการกำหนดผังรายการออกมา เพื่อเปิดให้มีการประมูลช่วงเวลาต่าง ๆ ของสถานี แทนที่จะให้เจ้าของสถานีเป็นผู้จัดผังรายการเองทั้งหมด โดยเน้นการประมูลที่โปร่งใส ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมรับรู้ได้ว่าใครได้รับการประมูลรายการในช่วงใดไป

วิธีการนี้นอกจากจะทำให้กลุ่มทุนขนาดเล็กที่มีความสนใจ และมีความสามารถในการดำเนินรายการ สามารถเข้าถึงสื่อประเภทนี้ได้ การประมูลแบบโปร่งใสจะช่วยแก้ปัญหาการจัดผังรายการแบบทุบโต๊ะของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ว่า จะให้ใครเข้าอยู่ในผังหรือออกนอกผังเช่นปัจจุบัน

ในระยะยาวการทำให้ทีวีเป็นสื่อเสรี รัฐบาลควรเปิดกว้างให้มีการแข่งขัน อนุญาตให้มีสถานีโทรทัศน์เพิ่มขึ้น ให้เกิดการแข่งขันในการผลิตรายการ ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายในการบริโภคสื่อ ส่งเสริมให้สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องผลิตรายการตามจุดแข็งของตนเอง เพื่อให้เกิดรายการมีความหลากหลาย สามารถดึงดูดความสนใจ และตอบสนองความต้องการของผู้ชมเฉพาะกลุ่ม

แนวทางที่ผมเสนอ ผมคาดหวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านในเชิงแนวคิด และเกิดประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายที่จะนำแนวทางดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุดท้ายจะเกิดกับคนไทย ที่ได้บริโภคสื่อที่มีคุณภาพ หลากหลาย ไม่ใช่การยัดเยียดข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน เช่นปัจจุบัน
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-03-14