การย้ายฐานการผลิตและลงทุนสู่ต่างประเทศ

ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาเงินบาทแข็งค่า กระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ (Internationalization) หลังพบว่าการส่งออกของไทยสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แนะนำให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตสู่ต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และเป็นแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในระยะยาว

การสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ผู้ประกอบการไทยกำลังเตรียมย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ หรือถูกกระทบจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์น้อยกว่าประเทศไทย เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา โดยในปัจจุบันมีบริษัทคนไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศจำนวน 680 บริษัท มีตัวแทนและร่วมทุนในลักษณะของการเปิดสาขาจำนวน 1,332 สาขา กระทรวงพาณิชย์จึงตั้งเป้าหมายที่จะมีตัวแทนและการร่วมทุนในต่างประเทศทั่วโลก จำนวน 3,000 สาขาภายใน 5 ปี

ปัจจัยที่อาจทำให้การย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิตของไทยขาดประสิทธิผล

ปัจจัยแรก คือ ข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสูง หากรัฐบาลส่งเสริมให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตสู่ต่างประเทศ โดยไม่มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือขยับมาสู่อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูง จะทำให้การพัฒนาขาดความสมดุล และส่งผลกระทบต่อต้นทุนของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยที่สอง คือ แรงงานในประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับภาคการผลิตที่ต้องใช้ทักษะสูงขึ้น เมื่อเร่งรีบผลักดันผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า แรงงานไร้ทักษะต้องสูญเสียการจ้างงานเป็นจำนวนมาก

หากการย้ายฐานการผลิต การพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ไม่สามารถเดินหน้าสอดประสานไปพร้อมกัน อาจสร้างปัญหาต่อภาคการผลิตและแรงงานทั้งระบบ จนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้

ประเทศไทยควรย้ายฐานการผลิตและการลงทุนสู่ต่างประเทศอย่างไร?

ผมเห็นว่า การผลักดันการย้ายฐานการลงทุนการผลิตควรอยู่ในกรอบระยะกลาง-ยาว ไม่ควรเร่งดำเนินการโดยปราศจากยุทธศาสตร์รองรับ แต่ควรมีการวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาภาคการผลิตในภาพรวมอย่างเป็นระบบเสียก่อน เนื่องจากภาคการผลิตต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตของกันและกัน ในลักษณะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำndash;ปลายน้ำ หรือมีปัจจัยการผลิตขั้นต้นร่วมกัน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

ดังนั้นการดำเนินนโยบายการพัฒนาในภาคการผลิตหนึ่ง ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการผลิตอื่น ๆ ด้วย ภาครัฐจึงควรวางแผนพัฒนาภาคการผลิตเพื่อค้นหายุทธศาสตร์แต่ละสาขา โดยนำผลการศึกษาไปจัดลำดับความสำคัญของภาคการผลิต นำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการจ้างงานและการแข่งขันของประเทศ

ข้อควรคำนึงก่อนย้ายฐานการลงทุนและการผลิตสู่ต่างประเทศ

ภาครัฐควรคำนึงถึงความแตกต่างของขนาดทางธุรกิจ และเข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการไทย และควรดำเนินการปรับโครงสร้างภาคการผลิตภายในประเทศก่อน หรือ พร้อม ๆ กับการผลักดันเรื่องการย้ายฐานฯ เนื่องจากโครงสร้างการผลิตในปัจจุบันทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยอ่อนแอ การย้ายฐานฯ เพียงประการเดียวจะไม่ช่วยทำให้ภาคการผลิตไทยถูกพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายจึงควรคำนึงถึงการทำให้นโยบายดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-03-15