ค่าเสียโอกาสของเรียลลิตี้โชว์แก้จน

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เรียลลิตี้โชว์ (Reality show) ซึ่งถ่ายทำชีวิตจริงของผู้เข้าแข่งขัน กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปีนี้ โดยเฉพาะรายการที่ถ่ายทอดสดชีวิตของผู้เข้าแข่งขันทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะกิน เล่น ฝึกซ้อมหรือทำภาระกิจต่าง ๆ แม้แต่การนอน ซึ่งการติดตามถ่ายกันตลอด 24 ชั่วโมงทำให้ผู้ชมสนใจติดตามชมผู้เข้าแข่งขันอย่างไม่วางตา เพราะสามารถตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นได้เป็นอย่างดี

และเมื่อนายกรัฐมนตรีเกิดความต้องการเป็นผู้เข้าแข่งขันเสียเอง จึงเกิดรายการเรียลลิตี้แก้จนที่อำเภออาจสามารถขึ้น โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้เรียลลิตี้โชว์นี้เป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหาความยากจน ให้แก่ข้าราชการและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดูเป็นแนวทาง

ผมมีข้อสังเกตในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการตัดสินใจทำรายการเรียลลิตี้โชว์ที่แสดงนำโดยท่านนายกฯ ดังนี้

แนวคิดพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าทรัพยากรทุกอย่างมีอยู่จำกัด รวมทั้งทรัพยากรเวลา เราจึงต้องตัดสินใจเลือกทำสิ่งหนึ่งและไม่ทำสิ่งที่เหลือ และการไม่ทำทางเลือกที่เหลือนี่เองทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) เกิดขึ้น เช่น สมมติว่าเราต้องเลือกว่าจะไปชมภาพยนตร์หรือไปดูกีฬา หากเราเลือกชมภาพยนตร์ ต้นทุนค่าเสียโอกาสคือประโยชน์หรือความพอใจจากการได้ดูกีฬานั่นเอง

และหากเป็นการตัดสินใจของนายกฯด้วยแล้ว ต้นทุนค่าเสียโอกาสคงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพียงการไม่ได้ไปดูหนังฟังเพลง แต่หมายถึงการสูญเสียของผลประโยชน์ของชาติ นายกฯมีทางเลือกในการทำสิ่งต่าง ๆ อยู่หลายทาง แต่ละทางล้วนมีมูลค่าของผลประโยชน์มหาศาล และประการสำคัญคือ หากตัดสินใจผิดทิ้งทางเลือกที่ดีที่สุดไป ต้นทุนค่าเสียโอกาสอันมหาศาลนั้นไม่ได้ตกอยู่กับท่านนายกฯ เพียงคนเดียว แต่ตกอยู่กับคนทั้งประเทศ

คราวนี้เราลองมาวิเคราะห์ต้นทุนของการทำเรียลลิตี้โชว์ครั้งนี้ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เนื่องจากการคิดต้นทุนดังกล่าว เราต้องคิดจากต้นทุนค่าเสียโอกาส คือ มูลค่ารวมของผลประโยชน์ทั้งหมดที่ต้องเสียไปจากการทำเรียลลิตี้แก้จน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือต้นทุนโดยตรงซึ่งเป็นต้นทุนที่จ่ายเป็นตัวเงินจริง ๆ และต้นทุนแฝงซึ่งไม่ได้เสียเป็นตัวเงิน แต่เป็นมูลค่าของผลประโยชน์ที่ต้องเสียไปจากการตัดสินใจทำรายการนี้

ต้นทุนโดยตรง ประกอบด้วย ค่าเดินทางของนายกฯ รัฐมนตรี และผู้ติดตามทั้งหลาย เบี้ยเลี้ยงของผู้ติดตามต่าง ๆ ค่าพาหนะ ldquo;ธนบัตรใบละพันrdquo; ที่นายกฯ เตรียมไว้แจกให้ชาวบ้านฯ ค่าเลี้ยงต้อนรับที่ข้าราชการระดับท้องถิ่นจัดเตรียมเพื่อรับรองคณะของนายกฯ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการออกอากาศของยูบีซี (แม้ว่าต้นทุนจะไม่ตกกับรัฐโดยตรง) รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำและเตรียมงานต่าง ๆ

ต้นทุนแฝง คือ ค่าเสียโอกาสของชาวบ้านในการทำมาหากิน เช่น การห้ามขายของ อาหาร ส้มตำ ลูกชิ้นปิ้ง ห้ามต้อนวัวต้อนควาย และค่าเสียโอกาสจากการที่นายกฯ และ รมต.ทั้งหลายจะได้ทำงานเพื่อการคิดนโยบายและแก้ปัญหาในระดับภาพรวมของประเทศ เช่น การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการกระจายรายได้และแก้ปัญหาความยากจน การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ทำให้งบประมาณไปไม่ถึงคนยากจน การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนและการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองมากขึ้น มิใช่รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น เป็นต้น

ดังนั้นแม้พิจารณาแบบผิวเผิน ต้นทุนในการจัดเรียลลิตี้แก้จนนี้จะไม่ได้มากมายเท่าใดนักในรูปตัวเงิน แต่หากคิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในแบบเศรษฐศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าเราต้องเสียอะไรไปมากมายจากรายการเรียลลิตี้โชว์ครั้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้น หากการลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้เรียนรู้วิธีการทำงานตามที่คาดหวังไว้แล้ว หรือการโชว์ครั้งนี้ไม่ใช่วิธีที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริงแล้ว ยิ่งทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าผลประโยชน์ที่ได้รับอาจไม่คุ้มกันกับต้นทุนที่ต้องเสียไปจาก เรียลลิตี้ ldquo;อคาเดแม้วrdquo;

แล้วใครจะรับผลจากการขาดทุนนี้ --- ก็คือประชาชนไทยตาดำๆ ที่นั่งเฝ้าดูรายการนี้ไงครับ
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-01-20