เส้นทางการเปิดเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เมื่อวันที่ 12-13 ก.ย.ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปบรรยายในการประชุมประจำปี ครั้งที่ 8 ของเครือข่ายเสรีภาพทางเศรษฐกิจในเอเชีย (The Economic Freedom Network Asia) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งหัวข้อของการประชุมครั้งนี้คือ ldquo;Preferential Trade Agreement: Local solutions for global free trade?rdquo; และหัวข้อที่ผมร่วมบรรยาย คือ ldquo;เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกrdquo; (East Asian Free Trade Area)

เป้าหมายเดิมของการเปิดเสรีในเอเชียตะวันออกประกอบด้วยสมาชิก 13 ประเทศหรืออาเซียนบวก 3 (ASEAN+3) ซึ่งได้แก่อาเซียน 10 ประเทศรวมกับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ผมมีข้อเสนออื่นๆ ที่ต้องการให้ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม ให้กว้างกว่าอาเซียนบวก 3

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2545 ผมได้เคยเสนออย่างน้อยให้รวมอินเดียเข้าในกลุ่มนี้ด้วย โดยเขียนเป็นบทความเรื่อง ldquo;ผนึกกำลัง อาเซียน+4: ยุทธศาสตร์ใหม่ในเอเชียrdquo; เนื่องจากอินเดียมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และมีความสนใจที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชียตะวันออก ตามนโยบาย ldquo;มองตะวันออกrdquo; (Look East) ของรัฐบาลอินเดีย การรวมอินเดียน่าจะทำให้กลุ่มนี้เกิดความสมดุลทางอำนาจ เพราะอินเดียน่าจะสามารถเป็นตัวกลางในการคานอำนาจและประสานระหว่างจีนและญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์ที่บาดหมางกันได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในระยะยาวมากขึ้น ผมจึงเสนอให้ขยายขอบเขตกว้างออกไปอีก โดยให้รวมออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และฮ่องกงเข้ามาในกลุ่มนี้ด้วย รวมเป็น ldquo;อาเซียนบวก 8rdquo; เนื่องจากเขตเศรษฐกิจทั้ง 4 (เหตุที่เรียกว่า ldquo;เขตเศรษฐกิจrdquo; เพราะฮ่องกงไม่ใช่ประเทศ และในบางกรณี ไต้หวันไม่ถูกนับเป็นประเทศ) ล้วนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเอเชียสูงมาก ยิ่งไปกว่านั้น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยังไม่ต้องการถูกโดดเดี่ยว จึงพยายามหยิบยื่นความสัมพันธ์ให้กับเอเชียมาตลอด

อีกประเด็นหนึ่งที่ประชุมดังกล่าวให้ความสนใจและมีข้อถกเถียงกันมาก คือ เส้นทางการเปิดเสรีของกลุ่มเศรษฐกิจนี้ โดยมีผู้เสนอไว้ 2 เส้นทางหลัก ๆ คือ การรวมกับอาเซียนครั้งละประเทศ/เขตเศรษฐกิจ แล้วจึงรวมกันทั้งหมดในที่สุด อีกเส้นทางหนึ่งคือ การรวมกันของประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่น ๆ นอกอาเซียนก่อน แล้วจึงนำมารวมกับอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเส้นทางนี้ยังแบ่งเป็นเส้นทางย่อย ๆ ได้แก่ จีนรวมกับเกาหลีก่อนแล้วจึงรวมกับญี่ปุ่น หรือญี่ปุ่นรวมกับเกาหลีก่อนแล้วจึงรวมกับจีน

สำหรับประเด็นนี้ ผมได้เสนอให้รวมตัวกับอาเซียนคราวละประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้การเจรจาเป็นไปได้โดยง่ายไม่ซับซ้อนและไม่ยืดเยื้อเหมือนกับการเจรจาพหุภาคีขององค์การการค้าโลก

ส่วนเส้นทางการรวมตัวของประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ก่อนแล้วจึงมารวมกับอาเซียนอาจล่าช้าและมีปัญหามาก เพราะยังไม่มีสถาบันที่ทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศเหมือนอย่างอาเซียน และประเทศต่าง ๆ ยังมีความหวาดระแวงญี่ปุ่น และมีท่าทีต้องการแข่งขันกันเองเพื่อมีอิทธิพลต่ออาเซียน นอกจากนี้ การรวมตัวระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นมีลักษณะเป็น ldquo;Stumbling blocrdquo; กล่าวคือมีแนวโน้มทำให้ไม่เกิดการพัฒนาไปสู่การเปิดเสรีกับประเทศอื่น ๆ

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับขอบเขตและเส้นทางการเปิดเสรีของเอเชียตะวันออกนับเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการเร่งเจรจาเพื่อจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เห็นเหตุผลและการจัดลำดับที่ชัดเจนว่า มีการกำหนดเส้นทางการเปิดเสรีกับประเทศใดก่อนหลังอย่างไร และมีการกำหนดยุทธศาสตร์การเปิดเสรีแบบทวิภาคีสัมพันธ์กับเขตการค้าเสรีในภูมิภาคอย่างไร

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-09-22