ขึ้นบัญชีดำลูกหนี้มือถือ?ป้องกันหนี้เน่า?

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ผู้บริหารของเครดิตบูโรเสนอแนวทางในการป้องกันปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ด้วยการเตรียมเสนอแก้ไข พ...การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ..2545 โดยสาระสำคัญของกฎหมายคือ ให้ผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์มือถือส่งรายชื่อลูกค้าที่ค้างชำระค่าบริการทั้งหมดเข้าสู่ระบบเครดิตบูโร ทั้งนี้จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้ ก่อนจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ผมคิดว่า แม้การเสนอแก้กฎหมายจะมีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ควรพิจารณาถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับพร้อมทั้งต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างถี่ถ้วน

สถาบันการเงินขาดข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อหรือไม่?

ปัญหาหนี้เสียในปัจจุบัน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่สถาบันการเงินขาดข้อมูลของลูกค้า หากแต่การบริการให้สินเชื่อบัตรเครดิตมักไม่นำข้อมูลจากเครดิตบูโรมาร่วมพิจารณามากนัก แต่กลับเน้นการให้บริการเงินด่วนโดยคิดดอกเบี้ยสูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูง แทนที่จะพิจารณาความเสี่ยงจากข้อมูลในเครดิตบูโร

เราสามารถสังเกตได้จากผู้ใช้บัตรเครดิตจำนวนไม่น้อยเป็นลูกค้าบัตรเครดิตของหลายบริษัทหรือมีบัตรเครดิตหลายใบ ตัวอย่างที่น่าสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพครูฯ (สกสค.) เปิดเผยผลการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินครู พบข้อมูลซึ่งน่าตกใจมากว่า มีครูบางคนมีบัตรเครดิตถึง 16 ใบ และใช้วิธีหมุนเงินจากบัตรใบหนึ่งไปใช้หนี้บัตรเครดิตอีกใบหนึ่ง ส่งผลให้หนี้สินของครูเพิ่มสูงขึ้นและไม่มีวันจบสิ้นรวมทั้งประสบภาวะวงเงินในบัตรทุกใบเต็ม

หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว จึงมีความเสี่ยงมากที่จะทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากการใช้บัตรเครดิต ดังนั้นก่อนที่จะนำแนวคิดในการเอาข้อมูลลูกค้าที่ค้างชำระค่าบริการมือถือเข้าสู่ระบบนั้น จำเป็นต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ข้อมูลที่เครดิตบูโรมีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอต่อการพิจารณาสินเชื่อหรือไม่ และการมีข้อมูลเพิ่มขึ้นจะทำให้ความเสี่ยงในการให้เงินกู้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

การมีข้อมูลผู้ค้างชำระค่าโทรศัพท์จะทำให้หนี้เสียลดลงหรือไม่?

หากการแก้ไข พ...สำเร็จ มีความเป็นไปได้ว่า อาจทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ เพราะโดยปกติแล้วประชาชนจะกู้เงินสำหรับนำไปชำระหนี้ระยะสั้นประเภทต่าง ๆ เช่น หนี้การค้าค่าสาธารณูปโภค ค่าอุปโภคบริโภค เป็นต้น หากสถาบันการเงินนำข้อมูลการค้างชำระค่าโทรศัพท์มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการรายย่อยขาดสภาพคล่อง เพราะไม่สามารถกู้เงินเพื่อมาชำระหนี้ระยะสั้นได้ ทำให้ต้องไปกู้นอกระบบแทน หรือกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น

มากยิ่งกว่านั้นรูปแบบธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นลักษณะเดียวกันกับบริการสาธารณูปโภคประเภทอื่น ๆ คือ ลูกค้าจะใช้บริการไปก่อน และผู้ประกอบการจะเรียกเก็บเงินในภายหลัง ในอนาคตภาครัฐอาจรวมข้อมูลการค้างชำระค่าบริการสาธารณูปโภคประเภทอื่นเข้าไปด้วย เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์พื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้ประชาชนที่มีปัญหาเงินขาดมือ มีโอกาสน้อยลงที่จะได้รับเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง

นอกเหนือจากที่กล่าวมา ยังมีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมเรื่องสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ดังนั้นการออกกฎหมายฉบับนี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลประโยชน์และผลกระทบ รวมทั้งสร้างกลไกในการกำกับดูแลการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่าจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-11-29