วิกฤตความน่าเชื่อถือของ ธปท.

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางทั่วโลก เกิดจากปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ ความแม่นยำ และความเป็นอิสระ กล่าวคือ ความแม่นยำในการประเมินสถานการณ์ การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ และการคาดการณ์ผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ส่วนความเป็นอิสระ คือ การดำเนินงานที่ปราศจากการแทรกแซง

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคำพูดของเขาได้รับความเชื่อถืออย่างมาก ทั้งจากคนในสหรัฐฯ และคนทั่วโลก ด้วยเหตุของความแม่นยำในการประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ และความเป็นอิสระของเฟด

ในทางตรงกันข้าม วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 เกิดจากการขาดความแม่นยำในการประเมินศักยภาพของนักเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ ธปท.นำเงินทุนสำรองต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินบาทจนหมดหน้าตัก ส่งผลทำให้ความเชื่อถือที่มีต่อ ธปท.ตกต่ำลงอย่างรุนแรง

เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วงลงกว่า 108 จุด เนื่องจากมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินลงทุนระยะสั้นของ ธปท. กำลังจะทำลายความน่าเชื่อถือของ ธปท.ให้ตกต่ำลงอีกครั้งหนึ่ง

ประการแรก คือ ความสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำอันเกี่ยวข้องกับนโยบายควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเด็น

หนึ่ง ความแม่นยำในการประเมินสถานการณ์และผลกระทบของนโยบาย ซึ่งสังเกตได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนค่อนข้างรุนแรงมาก ถึงแม้ว่าหลังจากที่มาตรการนี้ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องยังได้ยืนยันผ่านสื่อว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการ แต่หลังจากผลกระทบได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ภาครัฐจึงกลับลำเปลี่ยนแปลงมาตรการในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นผลสัมฤทธิ์ที่มีต่อค่าเงินบาทกลับมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า

สอง ความแม่นยำเกี่ยวกับกลไกในการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน ทั้งนี้จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้กำหนดนโยบายอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า ภาครัฐทราบอยู่แล้วว่าการเก็งกำไรเกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้ แต่เหตุที่ต้องออกมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน เป็นเพราะไม่ทราบถึงกลไกในการแยกแยะเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดเงินและตลาดทุน ต่อเมื่อได้ปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญแล้วจึงค้นพบว่ามีกลไกที่แยกแยะเงินลงทุนได้ ธปท.จึงยกเลิกมาตรการดังกล่าวสำหรับเงินลงทุนในตลาดทุน

ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจมีการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะออกมาตรการนี้ แต่ผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นจากมาตรการนี้ กำลังจะทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ประการที่สอง คือ ความสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอิสระของ ธปท.โดยพฤติกรรมของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ครั้งนี้ ทำให้เกิดการตีความได้ว่า ธปท.ไม่ได้มีอิสระในการกำหนดนโยบาย แต่ดูเหมือนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะมีบทบาทอย่างมากในการดำเนินมาตรการครั้งนี้

ถึงกระนั้น เราอาจะมองได้ในอีกแง่หนึ่งว่า รมว.คลังจำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นสถานการณ์ที่สำคัญ และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งคือ รมว.คลังคนปัจจุบันเป็นอดีตผู้ว่าการ ธปท. จึงต้องการแสดงตัวว่าสนับสนุนผู้บริหารของ ธปท. ซึ่งเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อถือเกิดขึ้นจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏของประชาชนและนักลงทุน หากสังคมเกิดความสงสัยต่อผู้กำหนดนโยบายการเงินการคลัง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินงานในอนาคตของ ธปท.และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือที่มีต่อรัฐบาลด้วย

รัฐบาลและ ธปท.จึงควรเร่งแก่ความสงสัยดังกล่าว ก่อนที่ความสงสัยจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นความเชื่อว่าเป็นความจริง

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-12-23