เรียนฟรี 12 ปี ทำได้จริง?

ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) สังกัด Mossavar-Rahmani Center for Business and Government
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จากข้อถกเถียงของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นของการระบุในรัฐธรรมนูญ ให้สิทธิประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับเรื่องนี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย โดยมองว่า เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้ เพราะถือว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า จะกระทบต่อมาตรฐานการศึกษาโดยรวม เพราะรัฐไม่สามารถจัดงบประมาณได้ทั่วถึง

คำถามสำคัญหากเราบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ การอุดหนุนในลักษณะดังกล่าวจะสะท้อนถึงประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในภาพรวมได้จริงหรือไม่?

หากพิจารณาถึงเจตนาดีที่ต้องการให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ถึงกระนั้น ความจริงอีกด้านที่ไม่ควรมองข้ามคือ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงมีประเด็นที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะความเพียงพอของงบประมาณในการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาจส่งผลให้รัฐไม่สามารถดำเนินการได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงเป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
จากการวิเคราะห์นโยบายขยายการอุดหนุนการศึกษาจาก 9 ปีเป็น 12 ปี โดยมุ่งไปที่ประเด็นการกระจายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้เรียนอย่างเท่า ๆ กัน พบว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ดังนี้
การใช้งบเพื่อการศึกษาขาดประสิทธิภาพ การอุดหนุนผู้เรียนอย่างเท่าเทียมกัน ถือว่าเป็นการสูญเสียงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า อันเกิดจากการที่บุคคลแต่ละคนมีความจำเป็นในการรับการอุดหนุนได้ในจำนวนเงินที่ไม่เท่ากัน กล่าวง่าย ๆ คือ ผู้เรียนฐานะดีย่อมมีความสามารถในการจ่ายมากกว่าผู้เรียนที่ฐานะยากจน การได้รับการอุดหนุนเท่ากันแทนการนำเงินส่วนเกินไปอุดหนุนผู้เรียนที่ยากจน ย่อมเท่ากับเป็นการใช้งบประมาณอย่างขาดประสิทธิภาพ

รัฐไม่สามารถรับภาระอุดหนุนระยะยาวได้
การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัวล่าสุดได้มีการสรุปตัวเลขเงินอุดหนุนรายหัวใหม่
[1] ในระดับประถมศึกษาเป็น 1,900 บาทต่อปี มัธยมศึกษาตอนต้น 3,500 บาทต่อปี มัธยมศึกษาตอนปลาย เป็น 3,800 บาทต่อปี โดยหากใช้อัตราใหม่นี้ รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 17,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับนักเรียนทั้ง 12 ล้านคน[2] หากพิจารณาจากงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2551 จัดสรรให้จำนวน 4,825 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2552 จำนวน 4,833 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกปีไปเรื่อย ๆ เท่ากับเพิ่มภาระทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรเพื่อพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างทั่วถึงได้
ไม่แก้ปัญหาโรงเรียนเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครอง แม้ว่ารัฐบาลพยายามจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่โรงเรียนต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นคือ[3] ระดับประถมศึกษา 2,088.07 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 4,137.63 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 4,479.03 บาท ซึ่งโรงเรียนยังคงต้องแบกรับภาระส่วนต่างที่เกิดขึ้นอยู่ ทำให้โรงเรียนคงต้องระดมทุนจากผู้ปกครองเพิ่มเติมในรูปของเงินค่าอุปกรณ์การเรียน เงินค่าห้องสมุด เช่นที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ หากรัฐบาลต้องการระบุถึงสิทธิในการรับการศึกษาของประชาชนในรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยรัฐต้องทำหน้าที่เป็นผู้อุดหนุนนั้น ต้องมีแผนงานที่รอบคอบ และพิจารณาถึงแนวทางที่สามารถทำได้จริงในภาคปฏิบัติ เพื่อป้องกันปัญหาเดิมที่ไม่สามารถทำตามกฎหมายได้จริง ผู้ปกครองยังคงต้องรับภาระส่วนต่างที่รัฐไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ โดยการสร้างหลักประกันดังนี้
ต้องกำหนดให้มีแนวทางภาคปฏิบัติเป็นหลักประกัน เพื่อแก้ปัญหาเรียนฟรีไม่ฟรีจริง โดยกำหนดเงื่อนไขให้รัฐต้องทำแผนการศึกษาระยะยาว ชี้แจงถึงที่มา วิธีการ แนวทางที่ชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณ ให้เพียงพอกับการอุดหนุนการศึกษา เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ เงินส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาจากการอุดหนุน 9 ปี เป็น 12 ปีมาจากทางใดบ้าง แนวทางในการจัดสรรงบอุดหนุนในปีถัดไป
กระทรวงศึกษาธิการจัดทำยุทธศาสตร์ แผนงานใหม่ ให้สอดคล้องกับนโยบายการอุดหนุนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้มีแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณสู่สถานศึกษา และผู้เรียนอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ผู้เรียนยากจนเข้าถึงการศึกษา เช่น พิจาณาแนวทางการอุดหนุนใหม่ ที่สอดคล้องกับความจำกัดด้านงบประมาณ โดยเน้นการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ซึ่งผมได้เคยเสนอแนวทางไว้ในหนังสือ ldquo;อุดหนุน 4 ทิศ:คิดใหม่เรื่องเงินเพื่อการศึกษาrdquo; อาทิ อุดหนุนตามประสิทธิภาพของโรงเรียน อุดหนุนตามความสามารถในการจ่ายและตามความจำเป็นของผู้เรียนแต่ละคน การให้ทุนการศึกษา หรือกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นการกระจายงบประมาณให้ในขนาดที่แตกต่างกันตามความจำเป็นของแต่ละคน

สิ่งสำคัญคือบางเรื่องรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แม้ว่าเป็นสิ่งดีงาม แต่เมื่อพิจารณาในภาคปฏิบัติแล้ว แทบไม่มีทางเป็นไปได้ การระบุเช่นนี้ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด ดังนั้นหากเราต้องการให้รัฐธรรมนูญมิได้เป็นเพียงบทบัญญัติสวยหรู แต่มีผลบังคับใช้ได้จริง บทบัญญัติทุกมาตราจึงควรมีแนวทางที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า จะเป็นเช่นนั้นจริงในภาคปฏิบัติด้วย


[1] ldquo;สรุปตัวเลขเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวrdquo;. หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2549. หน้า 13
[2] ldquo;พ.ค.50 เงินอุดหนุนถึง ร.ร.rdquo;. หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก. วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2549. หน้า 11
[3] ldquo;เผยตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัวพบ รร.แบกภาระหนักrdquo;. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์.วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม 2549. หน้า27
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ: 
2007-09-18