รายได้กับความสุข

     การวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาของประเทศ โดยใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเด็นที่ความเจริญทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศ รวมทั้งมีข้อเสนอให้มีการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) แทนการวัด GDP ซึ่งรัฐบาลของบางประเทศได้มีการจัดตั้งโครงการศึกษา ?ความสุขมวลรวมประชาชาติ? (Gross National Happiness) เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เป็นต้น
 
 
 
     ที่มาของภาพ http://aux3.iconpedia.net/uploads/534236549.png

     คำถามที่น่าสนใจ คือ หากความสุขของประชาชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ แล้วการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถสะท้อนเป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง รายได้มีความสัมพันธ์กับความสุขอย่างไร
 
     ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และความสุขอาจแบ่งได้เป็น 2 แนวคิดที่ขัดแย้งกัน คือ ระดับความสุขของประชาชนจะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการวัด GDP ถกเถียงว่า ความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นทำให้ความสุขของประชาชนเพิ่มขึ้นน้อยมาก และมองว่าความพยายามทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของความสุขกับรายได้อาจมีความซับซ้อนหรือมีพลวัตรมากกว่าความสัมพันธ์เชิงเส้นทั้งสองแบบดังที่ได้กล่าวข้างต้น ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์บางทฤษฎีระบุถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นเส้นตรง กล่าวคือ ระดับของความสุขของประชาชนจะเพิ่มขึ้นตามระดับความมั่งคั่ง จากนั้นระดับของความสุขจะเริ่มมีระดับคงที่ ซึ่งโดยปกติเมื่อรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 25,000 เหรียญต่อปีระดับความสุขจะเริ่มคงที่
 
     รูปแบบของความสัมพันธ์ตามทฤษฎีดังกล่าว สะท้อนว่าความสุขของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาหรือมีรายได้ต่อหัวต่ำมีความสัมพันธ์กับรายได้มากกว่าความสุขของประชาชนในประเทศที่ร่ำรวย หรือสามารถอธิบายได้ว่า คนยากจนจะมีพึงพอใจหรือความสุขเพิ่มขึ้นมากเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น แต่คนร่ำรวยจะมีความสุขเพิ่มขึ้นน้อยเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นในระดับเดียวกันกับคนยากจน
 
     หากพิจารณาผลการศึกษาเชิงประจักษ์ การศึกษาของบริษัทวิจัย Ipsos ที่ทำการสำรวจความเห็นจาก 19,000 คน ใน 24 ประเทศ ในปี 2554 พบว่า ประชาชนที่มีระดับความสุขสูงสุดไม่ได้อยู่ในประเทศที่ร่ำรวย แต่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย อินเดีย และเม็กซิโก สำหรับคนในประเทศที่ร่ำรวยมีระดับความสุขแตกต่างกันไป เช่น ออสเตรเลียและอเมริกามีระดับความสุขสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ประชาชนในประเทศยุโรปส่วนใหญ่มีความห่อเหี่ยวใจมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
 
     ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนผู้มีความสุข ผู้ตอบแบบสอบถามในเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่และขยายตัวเร็วมีสัดส่วนผู้ที่ตอบว่า ?มีความสุขมาก? สูงขึ้น เช่น ตุรกี เม็กซิโก อินเดีย เป็นต้น แต่ในบางประเทศ ประชาชนที่ตอบว่ามีความสุขมีสัดส่วนที่ลดลง เช่น อินโดนีเซีย บราซิล รัสเซีย เป็นต้น เช่นเดียวกับคนในประเทศร่ำรวยไม่ได้มองแง่ลบเป็นเหมือนกันทั้งหมด เช่น ผู้ตอบแบบสอบถามในญี่ปุ่นที่มีความสุขมีจำนวนมากขึ้น แม้ต้องประสบกับภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิและวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
     จากผลการสำรวจดังกล่าวอาจสะท้อนว่า ตัวเลขระดับความสุขของคนไม่ได้มีความสัมพันธ์มากนักกับระดับรายได้ แต่อาจมีความสัมพันธ์กับอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ โดยเฉพาะประชาชนในเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีระดับความสุขสูงกว่าประชาชนในประเทศร่ำรวย เนื่องจากเศรษฐกิจเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง หรือหมายความว่าประชาชนมีรายได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศร่ำรวยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ และหลายประเทศประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ
 
     อย่างไรก็ดี ระดับความสุขยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เพราะระดับความสุขของประเทศที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกลับไม่ได้มีทิศทางเดียวกันทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่าระดับความสุขของประชาชนในแต่ละประเทศยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศอีกด้วย
 
     การนำดัชนีวัดความสุขมวลรวมมาใช้ในการวัดระดับการพัฒนาประเทศแทนการใช้ GDP ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากการวัดความสุขแล้ว ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าที่จำเป็นต้องทราบ คือ ปัจจัยอะไรที่ทำให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น นอกจากนี้การวัด GDP ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป เพราะรายได้น่าจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อระดับความสุขของคนอยู่ในระดับหนึ่ง
 
admin