ทฤษฎีการหางาน ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย

หางาน

ที่มาของภาพ http://blog.brand-yourself.com/wp-content/uploads/JobSearchNewspaper-300x284.jpg

การประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ไดมอนด์ ศาสตราจารย์ เดล มอร์เทนเซน และศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ พิซซาริเดส ซึ่งได้พัฒนาทฤษฎีการหางาน (search theory) และพัฒนาเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ตลาดแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อตอบคำถามที่ว่า “ทำไมยังมีผู้ว่างงานเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการเปิดรับสมัครคนเข้าทำงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน” และ “นโยบายเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการว่างงานอย่างไร”

ผลงานของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งสาม ช่วยตอบคำถามสำคัญๆ ทั่วไปทางเศรษฐศาสตร์ และทำให้เกิดความเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการว่างงานและพัฒนาการของการว่างงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายเพื่อจัดการกับปัญหาการว่างงาน นอกจากนี้ ทฤษฎีการหางานได้รับการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งการศึกษาประเด็นในทฤษฎีการเงิน เศรษฐศาสตร์สาธารณะ เศรษฐศาสตร์ภูมิภาค และเศรษฐศาสตร์ครอบครัว ทฤษฎีนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ตลาดประเภทอื่นได้อีกด้วย

            หลักการสำคัญของทฤษฎีการหางาน กล่าวถึง การที่ผู้หางานมีต้นทุนสูงในการแสวงหางาน เนื่องจากการรับสมัครคนเข้าทำงานแต่ละครั้งมีลักษณะเป็นการจับคู่ ซึ่งนายจ้างอาจไม่พึงพอใจในคุณสมบัติของผู้สมัครงาน หรือนายจ้างและผู้สมัครงานอาจไม่ประสบความสำเร็จในการตกลงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้าง ทำให้ไม่มีการจ้างงานเกิดขึ้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจึงจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการหางานใหม่ต่อไป การหางานจึงต้องใช้เวลานาน ด้วยเหตุนี้ ในขณะหนึ่งๆ จึงมีการว่างงาน แม้มีตำแหน่งงานว่างก็ตาม ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดในมุมมองของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถจับคู่ซื้อขายได้ทันที โดยปราศจากต้นทุน เพราะมีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์เกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการทั้งหมด โดยราคาจะถูกกำหนดโดยกลไกตลาดและไม่มีอุปสงค์หรืออุปทานส่วนเกินเหลืออยู่ ซึ่งเป็นสภาวะที่การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้งสามคนได้ประยุกต์ทฤษฎีการหางานในการพัฒนาแบบจำลอง DMP ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ได้รับความนิยมในการใช้วิเคราะห์การว่างงาน ระดับค่าจ้างแรงงาน และตำแหน่งงานว่าง รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการว่างงานอันเนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ สิทธิประโยชน์จากการประกันการว่างงาน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ประสิทธิภาพของตัวแทนจัดหางาน ต้นทุนการจัดหาและจัดจ้างแรงงาน ฯลฯ

จากผลงานของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลดังที่ได้กล่าวข้างต้น ผมเห็นว่าประเทศไทยสามารถได้รับประโยชน์จากการนำทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงาน และนโยบายด้านอื่นๆ โดยผมมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายบางประการดังนี้

          การส่งสัญญาณเกี่ยวกับมาตรฐานของสินค้าและบริการ

            ประเทศไทยมีปัญหาค่อนข้างมากเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารในตลาดแรงงาน ผมได้ยินเสียงบ่นของผู้ประกอบการเสมอว่า นายจ้างมีความต้องการแรงงาน แต่ไม่สามารถหาแรงงานมาทำงานได้ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานโดยรวมมีคุณภาพไม่ตรงกับความต้องการ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่มีข้อมูลข่าวสารเพียงพอเกี่ยวกับผู้รับสมัครงานและผู้หางานทำ เช่นเดียวกับตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดบริการ ซึ่งเป็นตลาดที่มีลักษณะของการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือเป็นสินค้าหรือบริการที่ผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าก่อนซื้อ หรือมีต้นทุนสูงหรือต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าและบริการที่จะซื้อขาย

            ผมจึงมีข้อเสนอว่า ภาครัฐควรกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานของแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ และจัดตั้งสถาบันที่ทำหน้าที่จัดทดสอบและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมฝีมือแรงงานและสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน แรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมหรือการทดสอบจะได้รับการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานโดยสถาบันที่มีความเชื่อถือได้ รวมทั้งจะได้รับการบันทึกชื่อ ระดับฝีมือแรงงาน และสถานที่ติดต่อลงในฐานข้อมูล เพื่อให้นายจ้างเข้ามาสืบค้นได้ด้วย ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับฝีมือของแรงงานแต่ละคนให้นายจ้างรับรู้ ทำให้ต้นทุนการจัดหาแรงงานลดลง และระยะเวลาในการหาแรงงานสั้นลง รวมทั้งยังเป็นการยกระดับฝีมือแรงงานทั้งระบบอีกด้วย แนวคิดดังกล่าวนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในตลาดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การกำหนดมาตรฐานของโครงการบ้านจัดสรร การรับรองมาตรฐานของผู้ให้บริการต่างๆ เป็นต้น

การพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ตลาดแรงงาน

การกำหนดนโยบายแรงงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เกิดจากกระบวนการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการสามฝ่าย แม้หลักเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำได้ระบุให้กรรมการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่คณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้มีเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม และผลกระทบจากการกำหนดอัตราค่าจ้างในระดับต่างๆ ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสังคม โดยเฉพาะการประกันการว่างงาน ที่มักเกิดขึ้นจากแรงผลักทางการเมืองมากกว่าผลการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการ ซึ่งอาจทำให้การดำเนินนโยบายไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อแรงงานและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

            ผมจึงเสนอว่า กระทรวงแรงงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจัดทำแบบจำลองเศรษฐศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ จากการดำเนินนโยบายด้านแรงงานและนโยบายอื่นๆ ซึ่งแนวคิดนี้ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไร..จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด?” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของผม เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2548

            ข้อเสนอของผมที่เกิดจากการจุดประเด็นจากทฤษฎีการหางาน เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความรู้ที่เราสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้ ที่ผ่านมา ประเทศที่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วเกิดจากปัจจัยด้านความสามารถในการผลิตองค์ความรู้และการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง หากเราสามารถเรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกได้ แต่กลับไม่นำเอาความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้

           

ได้รับการตีพิมพ์จากเดลี่นิวส์ออนไลน์ คอลัมน์บทความ :แนวคิด ดร.แดน วันศุกร์ที่ 15ตุลาคม พ.ศ. 2553

 

 

 

 

 

pump