ปรองดองต้องเต็มใจ

          หากพิจารณาสังคมไทยในเวลานี้ การที่จะให้เกิดความปรองดอง / สมานฉันท์ ที่แท้จริงเกิดขึ้นได้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะต้องใช้ความเสียสละของผู้ถืออำนาจ ที่ต้องกล้ายอมถอยออกมาจากพื้นที่แห่งอำนาจ เพื่อเปิดให้ทุกฝ่ายหันมาสมานฉันท์เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ทุกฝ่ายต้องพร้อมจะเสียสละสิ่งที่ตนต้องการ โดยมีเป้าหมายร่วม คือ เพื่อประโยชน์สุขและความสงบสุขของทุกคนในประเทศ





          ความปรองดอง / สมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ในระยะยาว สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น ได้แก่

          การเปลี่ยนแปลงใหม่ การแก้ปัญหาจำเป็นต้องส่งสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมาก  เพื่อส่งสัญญาณใหม่ ดังเช่น กรณีนายกรัฐมนตรีฮาโตยามาของญี่ปุ่น ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจาก ไม่สามารถดำเนินนโยบายย้ายฐานทัพสหรัฐออกจากเกาะโอกินาวา ตามที่เคยให้สัญญาเมื่อตอนหาเสียงได้ นายนาโอโตะ คัน เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไป เพื่อฟื้นภาพลักษณ์ของรัฐบาล ในสภาวะที่ประเทศไทยเป็นอยู่  โดยหลักการแล้ว จำเป็นต้องส่งสัญญาณใหม่ คือ ฉายภาพอนาคตแห่งความหวัง ผู้นำและทีมบริหารประเทศ เปลี่ยนแปลงไป กลุ่มคนใหม่ที่จะสามารถสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นใจว่า ประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น

          การเจรจาเพื่อความเข้าใจร่วม ในเวลานี้ รัฐบาลจะมุ่งเรื่องการปฏิรูปประเทศ และภาคส่วนอื่น ๆ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเจรจา เพราะมองว่า เลยช่วงเวลาที่จะเจรจาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากเรายอมรับสิ่งที่เป็นอยู่ ย่อมเท่ากับเราปิดประตูการสร้างความปรองดองไปโดยปริยาย จะมีเพียงการตอบโต้กันทางการเมือง เพื่อชิงพื้นที่ครอบครองอำนาจทางการเมืองจากประชาชนเท่านั้น  ซึ่งยิ่งสร้างความร้าวฉานที่รุนแรงขึ้น ระหว่างประชาชนด้วยกันในระยะยาว ดังนั้น แนวทางการเจรจาร่วมสองฝ่าย จึงน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยลดความขัดแย้ง ระหว่างประชาชนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน การเจรจาช่วยกระตุ้นให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วย อยากให้เกิดความปรองดอง และนำไปสู่การกำหนดแนวทางสมานฉันท์ร่วมกัน

         สร้างสังคมพหุเอกานิยม แนวคิดหนึ่งที่เราจำเป็นต้องปลูกฝังให้อยู่ในสำนึกของคนทุกคน ทั้งในรุ่นนี้และรุ่นต่อไป นั่นคือ แนวคิดสังคมพหุเอกานิยม (Unified Pluralistic Society) สังคมที่นิยมความมีเอกภาพในความหลากหลาย (Unity in Diversities) ทุกคนแม้มีความแตกต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ที่สำคัญ คนทุกคนต่างร่วมกันใช้ส่วนที่ดีในความแตกต่างนั้นเป็นพลังพัฒนาประเทศอย่างเป็นเอกภาพ

          ประเทศจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างปรองดอง / สมานฉันท์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศในเวลานี้ว่า จะยอมเสียสละ และ ปรารถนาความปรองดองที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด

 

ที่มาของภาพ http://blog.timesunion.com/bark/files/2009/05/cat-and-dog-sleep.jpg

admin
เมื่อ: 
21/7/2010