ผลกระทบด้านการเงินระหว่างประเทศ : ไทยมีสุขภาพทางการเงินดีแค่ไหน?

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

หากจะเปรียบวิกฤตการณ์ทางการเงินจากสหรัฐเหมือนโรคติดต่อ โอกาสที่ประเทศไทยจะติดเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดวิกฤตการเงินจากสหรัฐอเมริกาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพทางการเงินของไทย หากสุขภาพร่างกายแข็งแรง โอกาสที่จะติดโรคระบาดคงเป็นไปได้ยากหรือแม้ได้รับเชื้อโรคก็จะไม่มีอาการรุนแรงมากนัก ในทำนองเดียวกัน แม้วิกฤตจากสหรัฐฯจะส่งผลให้มีการดึงเงินทุนออกจากประเทศไทย แต่หากประเทศไทยมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งแล้วจะยังคงมีความน่าเชื่อถือ และจะไม่ทำให้เกิด ldquo;เงินช็อตrdquo; หรือปัญหาขาดสภาพคล่องจนกระทั่งเกิดวิกฤตได้ง่ายนัก
สำหรับการวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของไทยเพื่อประเมินความเสี่ยงจากวิกฤตการเงินในสหรัฐนั้น รายงานฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของไทย (International Investment Position หรือ IIP) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอการวิเคราะห์เพื่อประเมินว่า ในขณะนี้ประเทศไทยมีสินทรัพย์และหนี้สินต่างประเทศอยู่ในระดับเสี่ยงหรือไม่
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผมขอใช้สุขภาพการเงินระดับบุคคลเป็นภาพอุปมาถึงสุขภาพการเงินระดับประเทศ

หากจะเปรียบประเทศไทยเป็นคนหนึ่งคน โดยสมมติว่าชื่อนายไท นายไทอาจมีสินทรัพย์ที่ถือไว้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเงินสด เงินฝากในบัญชี ที่ดิน ทองคำ หุ้น ฯลฯ ความแตกต่างของทรัพย์สินแต่ละประเภทอยู่ที่สภาพคล่อง (Liquidity) ซึ่งหมายถึงความสะดวกในการนำสินทรัพย์นั้นเพื่อไปใช้จ่าย ยกตัวอย่างกรณีที่นายไทต้องการจะซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม หากเขาใช้เงินสดจะสามารถซื้อได้ทันที แต่หากเขามีเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ เขาจะต้องเสียเวลาไปถอนเงินออกมาก่อนจึงจะสามารถใช้จ่ายได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากนายไทจะใช้โฉนดที่ดินเพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยว เขาจะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะได้รับประทานก๋วยเตี๋ยว เพราะต้องรอให้มีคนสนใจซื้อที่ดินของเขาเสียก่อน และยังต้องเสียเวลาเจรจาต่อรองราคาที่ดินและเสียเวลาในขั้นตอนการติดต่อราชการเพื่อโอนโฉนดที่ดินอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน นายไทอาจมีหนี้สินด้วย หากจะอธิบายให้เป็นภาษาชาวบ้าน หนี้สินคือ ldquo;ทรัพย์สินที่อยู่กับเราแต่ไม่ใช่ของเรา และจะต้องคืนเจ้าของในวันใดวันหนึ่งrdquo; เช่น เงินกู้จากธนาคารเพื่อซื้อบ้าน การใช้จ่ายเงินจากบัตรเครดิต เงินที่หยิบยืมจากเพื่อน เป็นต้น โดยความแตกต่างของหนี้สินแต่ละชนิดนั้นอยู่ที่ระยะเวลาในการชำระคืน หากเป็นหนี้ที่มีระยะเวลาการชำระคืนที่ยาวนาน เช่นเงินกู้ซื้อบ้าน จะไม่ทำให้นายไทมีภาระมากนักในการชำระเงินคืน แต่หากเป็นหนี้ที่ต้องรีบคืน เช่นสินเชื่อบัตรเครดิต จะสร้างภาระในการหาเงินมาคืนหนี้มากขึ้น ยิ่งหากเป็นเงินกู้ที่อาจจะถูกเรียกคืนได้ตลอดเวลา เช่นเงินที่ยืมมาจากเพื่อนโดยที่ไม่รู้ว่าเพื่อนจะทวงคืนเมื่อใด อาจจะสร้างภาระในการชำระคืนอย่างฉับพลันทันที

โดยปกติ การมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินย่อมแสดงถึงการมีสุขภาวะทางการเงินที่ดี แต่ในบางกรณี แม้นายไทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ แต่หากเป็นหนี้สินที่เกิดจากการกู้เงินจากธนาคารไปลงทุนในกิจการที่ให้กำไรงามและมีความเสี่ยงต่ำ แสดงว่านายไทยังคงมีสุขภาพทางการเงินที่ดี เพราะในอนาคตเขาจะมีรายได้เข้ามามากจนสามารถจ่ายคืนหนี้ได้หมด ดังนั้นการวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินจึงมิอาจพิจารณาเพียงการเปรียบเทียบว่ามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินหรือไม่เท่านั้น

การพิจารณาว่าสุขภาพทางการเงินดีหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจสอบความเสี่ยงว่า นายไทจะมีโอกาสที่จะไม่มีเงินจ่ายหนี้ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า ldquo;เงินช็อตrdquo; หรือไม่ เมื่อมีเจ้าหนี้มาทวงเงินคืน หลักการสำคัญของการวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินจึงอยู่ที่ว่า นายไทมี ldquo;เงินที่พร้อมจะจ่ายทุกเมื่อrdquo; หรือไม่ เช่น มีเงินสดและเงินในบัญชีกระแสรายวัน มากกว่า ldquo;หนี้ที่จะถูกเรียกเก็บอย่างรวดเร็วrdquo; (เช่น หนี้นอกระบบหรือสินเชื่อบัตรเครดิต) หรือไม่

เมื่ออนุมานหลักคิดข้างต้นนี้สำหรับการวิเคราะห์ฐานะการเงินของประเทศว่ามีความเสี่ยงต่อวิกฤตการเงินหรือไม่ หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือประเทศไทยจะมีปัญญาจ่ายหนี้ให้ต่างชาติเมื่อมีเจ้าหนี้มาทวงหนี้คืนได้หรือไม่นั้น เราสามารถวิเคราะห์ได้โดยการเปรียบเทียบ ldquo;สินทรัพย์ของประเทศที่พร้อมสำหรับจ่ายหนี้ที่ถูกเรียกคืนได้ทุกเมื่อrdquo; ซึ่งก็คือ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ กับ ldquo;เงินจากต่างประเทศที่อาจถูกดึงกลับไปได้ในเวลาอันรวดเร็วrdquo; ซึ่งได้แก่ หนี้ระยะสั้นและเงินที่ต่างชาตินำมาลงทุนในตลาดหุ้นของไทย เนื่องจากเงินสองประเภทนี้พร้อมที่จะออกจากประเทศไทยไปได้ทุกเมื่อ

เมื่อสิ้นปี 2550 ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ประมาณ 87 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มากกว่า เงินที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยหรือเงินลงทุนในตราสารทุนที่มีมูลค่าประมาณ 57 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทย ซึ่งมิใช่เป็นสินเชื่อการค้า (Trade credit) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แสดงว่าประเทศไทยยังคงมีสุขภาพทางการเงินที่ค่อนข้างดี

หากเปรียบเทียบกับสุขภาพทางการเงินของประเทศไทยในขณะนี้กับช่วงก่อนการวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 นั้น นับว่าแตกต่างกันมาก ช่วงปี 2540 ประเทศไทยแทบไม่เหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเลย ในขณะที่มีหนี้ระยะสั้นท่วมหัว แต่ในขณะนี้ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอที่จะจัดการกับเงินที่จะไหลออกจากประเทศอย่างฉุกเฉินได้

เราจึงอาจสรุปได้ว่า ขณะนี้สุขภาพทางการเงินของประเทศไทยยังคงปกติ พร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะมีการดึงเงินลงทุนออกจากประเทศในระยะสั้น ด้วยเหตุนี้วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคจนกลายเป็นวิกฤตการณ์การเงิน แต่มีความเป็นไปได้ว่า วิกฤตครั้งนี้อาจจะทำให้สภาพคล่องในประเทศไทยลดลง เพราะการลงทุนจากต่างประเทศจะชะลอตัวถึงหดตัวลง และยังมีการดึงเงินลงทุนออกไปเพื่อนำไปพยุงฐานะการเงินของบริษัทแม่ ทำให้ภาคการผลิตที่แท้จริงหาเงินลงทุนได้ยากมากขึ้น นอกจากนี้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบางบริษัทในประเทศไทยที่มีความเกี่ยวพันทางการเงินอย่างลึกซึ้งกับบริษัทในล้มละลายในสหรัฐฯและสหภาพยุโรป

admin
เผยแพร่: 
นิตยสารไฮคลาส
เมื่อ: 
2009-06-15