จาก Stackelberg model สู่กรุงเทพเมืองอินเทอร์เน็ต



ที่มา http://i224.photobucket.com/albums/dd180/chibionerw/Nintendo/LogoWi-Fi04.jpg
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ความเร็วเชื่อมต่อ 64 กิโลบิตต่อวินาที (kbps) ฟรี เป็นจำนวนกว่า 15,000 จุดบนถนน 10 สายหลักของกรุงเทพฯ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างในใจกลางเมืองของกรุงเทพ โดยก่อนที่จะใช้บริการได้นั้นต้องไปขอรับบัตรอินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi Card) ทางอินเทอร์เน็ตหรือที่จุดประชาสัมพันธ์ของห้างสรรพสินค้าหรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
หากยกเว้นความเร็วเชื่อมต่อที่ค่อนข้างต่ำ ข่าวนี้เป็นที่น่ายินดีของชาวไซเบอร์ (Cyber) ในกรุงเทพฯ ที่จะสามารถท่องอินเทอร์เน็ตได้ฟรี ยิ่งไปกว่านั้น หากการบริการในการขอรับ Wi-Fi Card สะดวกรวดเร็วและคุณภาพของสัญญาณมีเสถียรภาพด้วยแล้ว จะยิ่งดีขึ้นไปอีก
ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ในการที่คนกรุงเทพฯจะได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี แต่สำหรับประเด็นที่กรุงเทพมหานครทำข้อตกลงกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น เพียงบริษัทเดียว ผมคิดว่ายังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด โดยผมจะอธิบายผ่านแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ และจากนั้นจะขอกล่าวถึงข้อเสนอบางประการที่น่าจะทำให้ชาวกรุงเทพได้ประโยชน์มากกว่าในระยะยาว
โดยธรรมชาติ เป้าหมายของธุรกิจคือการทำกำไรสูงสุด และปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มกำไรคืออำนาจตลาดของบริษัท ทุกบริษัทจึงพยายามสร้างอำนาจตลาดทั้งในทางสร้างสรรค์ เช่น การทำให้คุณภาพสินค้าดีกว่าคู่แข่ง หรือใช้วิธีการทางอ้อมเพื่อทำให้ตนเองมีอำนาจผูกขาด
วิธีการหนึ่งในการสร้างอำนาจตลาดในทางอ้อม คือ กลยุทธ์ ldquo;มาก่อนได้ก่อนrdquo; (First come, First served) คือ เป็นการกันไม่ให้คู่แข่งเข้าสู่ตลาดด้วยการชิงเป็นเจ้าแรกในสินค้าชนิดนั้น หรือชิงพื้นที่นั้นก่อน
โดยปกติในตลาดสินค้าที่มีบริษัทแข่งกันอยู่สองราย (Duopoly) หากทั้งสองรายนั้นไม่คิดจะฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่งแล้ว บริษัทเหล่านี้จะจำกัดปริมาณการผลิตของตนไว้ที่ระดับหนึ่งเพื่อจะทำให้สินค้าในตลาดมีปริมาณน้อยและทำให้สินค้าดังกล่าวมีราคาสูง ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ผลิตทั้งสองรายจะมีกำไรมากกว่าการผลิตสินค้าจำนวนมากและจำหน่ายสินค้าตัดราคากันแบบสะบั้นหั่นแหลก เพราะถึงแม้ว่าจะทำให้มียอดขายมากขึ้น แต่จะทำให้บริษัทของตนเจ็บตัวจากการที่ได้กำไรลดลง
แต่แบบจำลอง Stackelberg ได้อธิบายตลาดประเภทนี้ในอีกกรณีหนึ่งว่า หากเหตุการณ์กลับกลายเป็นว่ามีบริษัทหนึ่งได้โอกาสเข้ามาในธุรกิจเป็นรายแรก และคาดว่าจะมีบริษัทอื่นตามเข้ามาแข่งในภายหลัง บริษัทที่เข้ามารายแรก (leader) จะกำหนดปริมาณการผลิตสินค้าของตนให้มากกว่ากรณีที่ผมได้กล่าวในย่อหน้าที่แล้ว ซึ่งทำให้บริษัทที่เข้ามาใหม่ (follower) ไม่กล้าผลิตแข่งในปริมาณที่มากเกินไป เพราะหากผลิตแข่งจนกระทั่งราคาสินค้าลดลง บริษัทที่มาใหม่จะเจ็บตัวไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้นทุนคงที่ (fix cost) ในการเข้าตลาดครั้งแรกสูงด้วยแล้ว ผู้ผลิตรายใหม่อาจจะไม่กล้าเข้ามาแข่งด้วยซ้ำไป
ด้วยปริมาณการผลิตที่มากกว่าเดิมและราคาที่ยังคงสูงอยู่ จึงทำให้บริษัทที่เป็น leader ได้กำไรมากกว่ากรณีที่เข้าตลาดพร้อมกับเจ้าอื่น ดังนั้นหากเป็นไปได้ ทุกบริษัทจึงอยากจะเข้าสู่ธุรกิจเป็นรายแรก พร้อมทั้งยอมลงทุนเพื่อการผลิตในระดับใหญ่ไว้ก่อน เพื่อเป็นการ ldquo;กันท่าrdquo; คู่แข่งไม่ให้เข้ามาแข่งได้สะดวก
แม้ข้อสรุปของแบบจำลองนี้จะใช้สมการคณิตศาสตร์ในการพิสูจน์ แต่ในโลกจริงก็มีธุรกิจมากมายที่ใช้กลยุทธ์เช่นนี้ ผมจะขอยกตัวอย่างหนึ่งที่เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัด คือการที่ห้างสรรพสินค้าไปตั้งอยู่นอกเมืองซึ่งดูเหมือนมีจำนวนประชากรและกำลังซื้อไม่เพียงพอ และดูเหมือนห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ลงทุนเกินตัวที่สร้างห้างขนาดใหญ่อยู่ ldquo;กลางทุ่งrdquo; เช่นนั้น แต่ห้างสรรพสินค้าเหล่านั้นยังยอมลงทุนอย่างใหญ่โตเพื่อ ldquo;จองพื้นที่rdquo; ไม่ให้ห้างอื่นเข้ามาตั้งแข่งเพื่อจะหวังกำไรในระยะยาว ซึ่งจะเห็นได้ว่าห้างเหล่านั้นตั้งอยู่ได้นับ 10 ปีโดยปราศจากห้างอื่นมาตั้งแข่งในบริเวณใกล้เคียง (กรณี Discount Store ไม่สามารถใช้แบบจำลองนี้อธิบายได้ เนื่องด้วยกลยุทธ์ที่จำเป็นต้องเน้นการเพิ่มสาขาเพื่อเพิ่มยอดขายซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลง)
แม้เวลานี้คนกรุงเทพฯจะได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี แต่การลงทุนในการติดตั้งจุดส่งสัญญาณและการดำเนินการให้บริการนั้นล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น ทำให้ผมเชื่อว่าในอนาคตการให้บริการอินเทอร์เน็ต Wi-Fi คงไม่ฟรีแน่นอน เพียงแต่ว่าวิธีการเก็บค่าบริการอาจจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าโครงสร้างเพื่อการให้บริการ Wi-Fi ฟรีในปัจจุบันสามารถนำไปใช้เพื่อธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ต Wi-Fi แบบที่ต้องเสียค่าบริการในอนาคตได้ด้วย และหมายความว่าจุดส่งสัญญาณ Wi-Fi ถึงกว่า 15,000 จุดในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ จะถูกครอบคลุมโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต Wi-Fi เพียงรายเดียวเท่านั้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายหนึ่งลงทุนไว้มากเช่นนี้ อาจทำให้ข้อทำนายของแบบจำลอง Stackelberg เป็นจริง กล่าวคือทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายอื่นไม่กล้าเข้ามาลงทุนแข่งในระดับที่ทัดเทียมกัน เพราะกลัวว่าจะเจ็บตัวจากการทำสงครามแย่งลูกค้าให้ได้เต็มตามศักยภาพของโครงสร้างที่ลงทุนไป ซึ่งคงไม่คุ้มที่จะลงทุนเนื่องจากสุดท้ายจะได้ผลกำไรน้อยกว่าที่ได้ลงทุนไป
หากดูเผิน ๆ การมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแข่งกันไม่กี่รายจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ แต่ความจริงแล้วโครงสร้างการแข่งขันในตลาดเป็นตัวกำหนดผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดเลยทีเดียว
หากตลาดสินค้าชนิดใดมีการแข่งขันมากขึ้น ผู้บริโภคย่อมได้ประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากว่าหากมีผู้ผลิตจำนวนมากเข้ามาในตลาดพร้อม ๆ กัน ผู้ผลิตแต่ละรายจะต้องแข่งกันลดราคาลงมาเพื่อดึงลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเดิมไว้ ในตลาดของอินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน การมีผู้ให้บริการหลายรายเข้ามาแข่งขันกันในเวลาไล่เลี่ยกัน ย่อมทำให้อัตราค่าบริการของอินเทอร์เน็ตถูกลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่าการที่มีผู้ให้บริการรายเดียวเข้ามาลงทุนก่อนเจ้าอื่น
ผมจึงเห็นว่า การที่กทม. ร่วมมือกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯนั้น ในการขยายโครงการครั้งต่อไป กทม.ควรนำผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต Wi-Fi หลายรายเข้ามาร่วมให้บริการ ซึ่งนอกจากจะทำให้คนกรุงเทพได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการที่มีจุดให้บริการมากขึ้นและหลากหลายขึ้นแล้ว ยังเป็นการรับประกันว่าโครงสร้างของตลาดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต Wi-Fi ในอนาคต ซึ่งคงจะต้องมีการเก็บค่าบริการนั้น จะมีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการหลายราย ซึ่งจะทำให้อินเทอร์เน็ต Wi-Fi มีค่าบริการที่ถูกกว่ากรณีที่มีผู้นำตลาดเพียงรายเดียว ยกเว้นกรณีที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายอื่นไม่ยินดีเข้าร่วมโครงการก็คงเป็นเรื่องสุดวิสัย ซึ่งผมเชื่อว่าคงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น
แม้เป็นเรื่องที่ดีที่กรุงเทพมหานครทำให้ประชาชนมีโอกาสใช้อินเทอร์เน็ต Wi-Fi ได้ฟรีเป็นเวลา 1 ปีแต่ผมก็ขอเสนอข้อปรับปรุงในการดำเนินนโยบายเพื่อปกป้องสิทธิของคนกรุงเทพฯ ในระยะยาวด้วยครับ
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่17 กรกฎาคม 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-07-21