แซมมวล อดัมส์ เรียนอย่างมีทิศทาง เลือกหยิบความรู้มาใช้ประโยชน์

แซมมวล อดัมส์ (Samuel Adams) รัฐบุรุษชาวอเมริกัน นักเขียน นักการเมือง รวมถึงนักปรัชญาการเมืองคนสำคัญ ผู้มีส่วนสนับสนุนการต่อสู้
เพื่อปลดปล่อยประเทศสหรัฐอเมริกา จากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเป็นผู้วางรากฐานวัฒนธรรมการเมือง การปกครองของสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 18
ชีวิตในสมัยเด็กของแซมมวล อดัมส์เป็นเหมือนลูกของชนชั้นสูงทั่วไป ในสมัยที่สหรัฐอเมริกาเป็นนิวอิงแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอังกฤษนั่นคือ ได้รับการศึกษาที่ดี ในโรงเรียนชั้นหนึ่ง และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งในสมัยนั้นคือ วิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปัจจุบัน
การเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยของแซมมวล อดัมส์ ได้ให้ข้อคิดแก่เราทั้งเรื่องการเรียนที่สอดคล้องกับความสนใจ และการเลือกหยิบยกความรู้มาใช้ในการทำงานอย่างเหมาะสม
เลือกเรียนตามความสนใจ
ความคาดหวังจากครอบครัวคือ การให้แซมมวล อดัมส์ ได้รับใช้ศาสนา เป็นนักเทศนาผู้เปี่ยมด้วยความรู้ โดยเขาเองก็มีความปรารถนาที่อยากให้คนอื่น ๆ ที่ฟังเขาพูดได้รับแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต การเลือกวิชาเรียนในฮาร์วาร์ด เขาจึงเลือกเรียนวิชาเกี่ยวกับศาสนศาสตร์ เทววิทยา ปรัชญาที่เกี่ยวกับความจริงในธรรมชาติ วาทศิลป์ ภาษากรีก ภาษาลาติน เพื่อวางรากฐานในการเป็นนักการศาสนาในอนาคต
จุดพลิกผันความสนใจของแซมมวล อดัมส์ จากเรื่องศาสนามาสู่การเมืองได้เกิดขึ้น ระหว่างเรียน เมื่อเขาได้อ่านงานเขียนของจอห์น ล็อค (John Locke) ซึ่งกล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ เช่น สิทธิด้านชีวิต สุขภาพ เสรีภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องปกป้องและหยิบยื่นสิทธิเหล่านั้นแก่ประชาชนของตน สิ่งนี้กลายเป็นประเด็นสะท้อนความคิดของเขา ที่ได้เห็นว่าในช่วงเวลานั้น ชาวนิวอิงแลนด์ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองอังกฤษ แต่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากผู้ปกครองของตน
การปรับเปลี่ยนความสนใจในครั้งนี้ ส่งผลให้เขาเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในด้านรัฐศาสตร์ หันมาให้ความสนใจกับทฤษฎีการเมืองของล็อคอย่างจริงจัง และได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง "whether it be lawful to resist the Supreme Magistrate, if the Commonwealth cannot otherwise be preserved."ซึ่งสะท้อนความอยุติธรรมของผู้ปกครองที่กระทำต่ออาณานิคมภายใต้การปกครองของตน
เลือกหยิบความรู้มาใช้ในการทำงานอย่างเหมาะสม
จุดเด่นของแซมมวล อดัมส์อีกประการคือ เขารู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนมาในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น งานเขียนของเขา ที่ผสมผสานความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ เข้ากับแนวคิดทางการเมือง โดยเลือกหยิบยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เช่น ภาพของการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน กับการปกครองของอังกฤษในนิวอิงแลนด์
รวมถึงต่อมาเมื่อเขาได้มีโอกาสพูดในที่สาธารณะ ในฐานะนักการเมือง เขาได้ใช้วิชาวาทศิลป์ พูดจูงใจคนทั่วไปให้คล้อยตามความคิดของเขา จนได้รับการขนานนามว่า เป็นนักโฆษณาชวนเชื่อที่เก่งฉกาจคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
การเรียนรู้จากชีวิตของแซมมวล อดัมส์ จะเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับนักศึกษา ในการพัฒนาตนเองไปสู่การเรียนอย่างมีคุณค่า
การเรียนเพื่อรู้ไม่ใช่กลัวเกรด ไม่ใช่เรียนเพียงเพื่อสอบให้ผ่าน หรือเรียนเพราะวิชานั้นเรียนง่าย ผ่านง่าย ทำให้พลาดโอกาสได้รับความรู้จากวิชาที่อาจารย์อาจให้เกรดยาก แต่มีจุดมุ่งหมายใหม่ในการเลือกเรียนคือ มีเป้าหมายเพื่อเรียนให้ลึกซึ้ง เรียนให้รู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล ซึ่งผมเคยนำเสนอแนวคิดนี้ในหนังสือ ldquo;ศึกษิตแห่งศตวรรษที่21: แนวคิดปฎิรูปการศึกษาไทยrdquo; นำเสนอไว้เมื่อปี พ.ศ.2539
การเรียนอย่างมีทิศทาง คือ การลงลึกในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง วางแผนการเรียนว่า จะเรียนวิชาอะไร เรียนกับอาจารย์ท่านไหน หรือจะเข้าฟังสัมมนาเรื่องใด จัดเรียงลำดับความสำคัญในการเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การประยุกต์ใช้ความรู้อย่างเหมาะสม คือ การนำหลักคิดของแต่ละวิชามาบูรณาการเข้าหากัน สร้างความรู้ใหม่ และสามารถนำความรู้ที่ได้นั้นไปประยุกต์ใช้อย่างเห็นคุณค่า สนใจการสร้างความรู้ใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเป็นคุณูปการต่อสังคมส่วนรวม
ผมเชื่อว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนนั้น ไม่ได้อาศัยสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการเรียน ซึ่งจะทำให้มีการวางแผนอย่างรอบคอบ เป็นขั้นตอน มีทิศทางในการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความชำนาญ เพื่อรองรับกับอนาคตของตนเอง และมีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตต่อไป
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-06-12