ริชาร์ด ไมนอท ต่อยอดทางความรู้ สู่รางวัลโนเบล

ประสบการณ์หลังกำแพงฮาร์วาร์ดของจอร์ช ริชาร์ด ไมนอท (George Richards Minot) ได้มีส่วนสร้างเขากลายเป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณูปการใหญ่หลวงแก่มนุษย์ชาติ โดยเขาพร้อมเพื่อนอีก 2 คน ได้แก่ วิลเลียม พี เมอร์ฟีย์ (William P. Murphy) จอร์ช เอช วิปเปิล (George H. Whipple) ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยการคิดค้นวิธีรักษาโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Pernicious anaemia) ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลปี ค.ศ.1934
ผมขอหยิบยกข้อคิดที่น่าสนใจ เกี่ยวกับลักษณะชีวิตบางประการ ในขณะที่ไมนอทศึกษาอยู่ในรั้วฮาร์วาร์ด อันเป็นลักษณะชีวิตที่นำเขาไปสู่การเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา
การปฏิสัมพันธ์กับผู้รู้ ในขณะที่ไมนอทเป็นนักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ เขาได้เข้าเรียน และพูดคุยกับอาจารย์โฮเมอร์ ไรท์ (Homer Wright) ผู้เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในฐานะนักสรีระวิทยา ผู้พัฒนาเทคนิคการศึกษาเรื่องเลือดโดยกล้องจุลทรรศน์ การได้ปฏิสัมพันธ์พูดคุยทั้งเรื่องการศึกษาและประสบการณ์ในการทำวิจัย ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจศึกษาลงลึกเรื่องเกี่ยวกับด้านโลหิตวิทยา ซึ่งกลายเป็นงานที่เขามุ่งเน้นมาโดยตลอดชีวิตของเขา
การสังเกตและวิเคราะห์สิ่งรอบตัว ไมนอทนับว่าเป็นนักเรียนรู้ที่สนใจสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว จนสามารถนำสิ่งนั้นมาต่อยอดเป็นงานวิจัยที่สร้างชื่อเสียงแก่เขาได้ โดยในขณะที่เขาเป็นแพทย์ฝึกหัด เขาได้พบปะ พูดคุยและสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคโลหิตจางขั้นรุนแรงหลายคน จนได้ข้อสังเกตเรื่องอาหารบางชนิดที่อาจทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการดีขึ้น ซึ่งเขาได้นำมาเป็นข้อสมมติฐานในงานวิจัยของเขาในเวลาต่อมา
การต่อยอดความรู้จากผู้อื่น งานวิจัยเรื่องโรคโลหิตจางของไมนอท ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของเพื่อนร่วมวิจัยของเขาคือ จอร์ช เอช วิปเปิล ที่วิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคโลหิตจางในสุนัข และเขาได้นำแนวคิดนี้ มาต่อยอดกลายเป็นผลงานวิจัยของเขาเองที่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางร้ายแรง โดยการให้รับประทานตับ และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในปี ค.ศ.1926 เป็นผลให้ทั้งไมนอทและเพื่อนได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ.1934
จอร์ช ริชาร์ด ไมนอท นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราสามารถประยุกต์ใช้ในบริบทของการศึกษาไทย เพื่อผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียน และการเก็บเกี่ยวความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยนับว่าเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญาที่รวบรวมทรัพยากรที่มีค่า รอคอยผู้เรียนได้เข้าไปค้นหาและดึงเอาความรู้นั้น ต่อยอดทางความคิดไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเองได้ ตัวอย่างเช่น
พบปะคณาจารย์ อาจารย์ทุกคนต่างเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถระดับสูง ที่จะให้ความรู้และแนะนำทิศทางต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนควรเป็นฝ่ายเข้าหาอาจารย์ให้มากขึ้นในทุกช่องทางที่สามารถจะทำได้ เช่น ขอคำชี้แนะที่เป็นประโยชน์ด้านการเรียน ตั้งคำถามในกรณีที่สงสัยหรือไม่เข้าใจ ขอนัดพบอาจารย์เพื่อปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ
ค้นคว้าในห้องสมุด ห้องสมุดถือเป็นคลังแห่งปัญญาที่รวบรวมหนังสือ ซึ่งเป็นผลิตผลที่ผู้เขียนกลั่นกรองความคิดของตนถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ การอ่านหนังสือ เป็นเสมือนได้ปฏิสัมพันธ์ทางความคิดกับผู้เขียน ก่อเกิดปัญญาและเปิดรับความคิดที่หลากหลาย นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน
เข้าร่วมเสวนาทางวิชาการ เป้าหมายการเรียนเพื่อความสำเร็จนั้น ผู้เรียนจำเป็นต้องเป็นคนที่รู้กว้าง รู้ลึก รู้ไกล ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องอ่านหนังสือเท่านั้น แต่ควรเข้ารับฟังแนวคิดใหม่ ๆ ผ่านการฟังเสวนาวิชาการ หรือจากผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่อจะรับฟังแนวคิดและองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง
ฝึกสังเกต วิเคราะห์สิ่งรอบตัว การเป็นคนช่างสังเกต เป็นพื้นฐานหนึ่งของนักเรียนรู้ที่ดี ช่วยขยายการเรียนรู้ออกไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด สะท้อนว่า มีความสนใจแสวงหาความรู้อย่างจริงจังในเรื่องที่ตนสนใจ เปิดใจเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว โดยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองได้ และสามารถเลือกเรียนรู้ในสิ่งดีเป็นประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการเรียนรู้ในสิ่งที่อาจก่อให้เกิดผลเสียได้
การเรียนรู้ที่จะต่อยอดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่สร้างสรรค์จะช่วยสนับสนุนความสำเร็จของเราได้มาก หากเรารู้จักคิดมองประเด็นต่าง ๆ จากความรู้ใหม่ที่เราได้รับได้เข้าใจและนำมาวิเคราะห์ สร้างหลักการออกมานำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง ความคิดนั้นก็มีค่า และเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และช่วยให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-06-03