พัฒนาองค์กรให้ก้าวไกลด้วย ?ดัชนีชี้วัด?

กระแสการพัฒนาของโลกที่รวดเร็วในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีปริมาณและความซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับความเร่งรีบของวิถีการดำเนินชีวิตของคน ทำให้ความต้องการในการใช้เครื่องมือหรือตัวย่อที่สรุปข้อมูลข่าวสารที่มีปริมาณมาก ๆ ให้สามารถเข้าใจได้ง่าย และสามารถนำมาใช้ช่วยในการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างรวดเร็วนั้นมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ดัชนี (Index) ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ในการสรุปและย่อข่าวสารและสถานการณ์ต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วและมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาคู่ขนานไปกับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของโลกในยุคปัจจุบันดัชนีเหล่านี้ได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้ทุกปัจเจกบุคคลและทุกประเทศยากที่จะหลีกเลี่ยงในการที่ถูกบังคับให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานของดัชนีเหล่านี้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
ตัวอย่างเช่น การประกาศดัชนีความน่าลงทุนของประเทศไทยของสถาบันเอกชนที่ทำการจัดอันดับความน่าลงทุน (เช่น Samp;P หรือ Moody Investor Service ฯลฯ) ที่มีผลกระทบต่อการลงทุนของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะหากดัชนีดังกล่าวชี้ว่าประเทศไทยไม่น่าลงทุน ไม่มีความปลอดภัยในการลงทุน นักลงทุนก็จะไม่นำเงินมาลงทุนในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่าเราจะเห็นชอบกับการจัดทำดัชนีเหล่านั้นหรือไม่
ในขณะเดียวกันดัชนีต่าง ๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทั้งในฐานะที่เป็นผู้ใช้ดัชนีและผู้ถูกวัดด้วยดัชนี เราคงสังเกตเห็นว่าในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการศึกษาต่างประชาสัมพันธ์ว่าตนเองได้รับมาตรฐาน ISO 9000 หรือ ISO 9002 ฯลฯ มาตรฐานเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าสถาบันหรือองค์กรดังกล่าวมีการบริการหรือการบริหารงานเป็นอย่างไร ในด้านหนึ่งเราได้รับประโยชน์จากการที่มีดัชนีเหล่านี้ เพราะดัชนีจะสามารถทำให้เรารู้มาตรฐานและเปรียบเทียบสิ่งที่เราจะเลือกได้อย่างมีหลักเกณฑ์ที่ดีและรวดเร็ว เช่น ใช้ในการพิจารณาเลือกบริษัทหรือคู่ค้าในการร่วมงานทางธุรกิจ เพราะเป็นการลดความยุ่งยากในการไปสืบค้นข้อมูลว่าบริษัทหรือองค์กรนั้น ๆ มีการบริหารงานที่ดีหรือไม่ เป็นต้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเราทุกคนต่างก็ถูกบังคับเข้าสู่ระบบมาตรฐานของดัชนีชี้วัดเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับดัชนีนั้น ๆ หรือไม่ก็ตาม
กระแสการพัฒนาของโลกที่ทำให้ความสำคัญของดัชนีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งต่อระดับประเทศและระดับปัจเจก ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะปฏิเสธการเข้าสู่ระบบของการชี้วัดด้วยดัชนี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับตัวตอบสนองต่อกระแสการพัฒนานี้ให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการสร้างและพัฒนาดัชนีในด้านต่าง ๆ ให้มีมากขึ้นและเป็นดัชนีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามในขณะที่ระดับประเทศต้องกำลังเร่งดำเนินการสร้างและพัฒนาดัชนีในด้านต่าง ๆ อยู่นั้น ในระดับปัจเจกองค์กรแต่ละแห่งจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ในโลกของดัชนีนิยมนี้อย่างสามารถแข่งขันได้ โดยเริ่มจาก
ตรวจสอบสถานะองค์กรด้วยดัชนีชี้วัด หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ควรมีการศึกษาดัชนีชี้วัดในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อพันธกิจขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อมอาทิดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันดัชนีชี้วัดมาตรฐานคุณภาพสินค้ามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาตรฐานคุณภาพแรงงาน ฯลฯ ทั้งดัชนีที่จัดทำในระดับโลกรวมทั้งที่จัดทำโดยองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศ เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) การจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรม (มอก.)มาตรฐานการชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อประเมินสถานะขององค์กรว่าเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลแล้วองค์กรเราจัดอยู่ในระดับใด พร้อมทั้งหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นโดยการศึกษาจากดัชนีชี้วัดย่อยที่เป็นเกณฑ์ในการสร้างมาตรฐานต่าง ๆว่ามีดัชนีหรือตัวชี้วัดใดที่องค์กรได้คะแนนสูงสุด ต่ำสุด เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขให้ตรงจุดอย่างแท้จริง
การสร้างดัชนีชี้วัดในองค์กร การสร้างดัชนีหรือตัวชี้วัดในองค์กรเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นภายในองค์กรได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการสร้างตัวชี้วัดหรือดัชนีชี้วัดนั้นแท้จริงแล้วเทียบเท่ากับเป็นการสร้าง ldquo;กติกากลางrdquo; ในการทำงานร่วมกันภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นกติกากลางในการพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่งงาน โดยมีมาตรฐานการตัดสินที่ชัดเจนเป็นธรรมสามารถวัดได้ด้วยดัชนีที่สร้างขึ้น อาทิ การทำดัชนีชี้วัดผลการปฏิบัติงาน หรือ KPI (Key performance index)
นอกจากนี้องค์กรควรริเริ่มในการพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านอื่นๆ ขึ้นมาเป็นของตนเองเพื่อสอดคล้องกับบริบทของแต่ละองค์กรที่ไม่ได้มีความเหมือนกันทั้งหมดเพราะในบางเรื่องอาจไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันมาวัดได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างดัชนีชี้วัดความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในองค์กรเพื่อประโยชน์ในการลดความขัดแย้งของพนักงานในองค์กร...ดัชนีชี้วัดการทำงานอย่างมีความสุขในองค์กรเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข...ดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการทำ CSR(corporate social responsibility)ฯลฯ
เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในโลกของดัชนีนิยมได้ แต่เราสามารถใช้ประโยชน์จากดัชนีหรือตัวชี้วัดเหล่านี้ในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรให้สามารถแข็งขันได้ การปรับตัวสู่กระแสดัชนีนิยมด้วยการประเมินสภาพองค์กรด้วยมาตรฐานจากดัชนีชี้วัดที่เป็นสากลรวมทั้งการสร้างดัชนีชี้วัดเป็นของตนเองภายในองค์กร จึงเป็นแนวทางสำคัญในการนำพาองค์กรให้พัฒนาอย่างก้าวไกลต่อไป
admin
เผยแพร่: 
งานอัพเกรด
เมื่อ: 
2008-06-03