เตรียมพร้อมตั้งแต่ขั้นพื้นฐานก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

ที่มาของภาพ lt;http://www.basingstoke.gov.uk/NR/rdonlyres/0027A0F6-BB86-4A37-A637-702AF6357EDF/0/HigherEducationFundingCouncillogo.gifgt;
นักศึกษาใหม่ทุกคนต่างคาดหวังความสำเร็จในการเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ และปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ การเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ระดับการศึกษาในขั้นพื้นฐาน หากนักศึกษาได้รับการเตรียมพร้อมมาดีมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนสูง ตรงข้ามกับนักศึกษาที่ได้รับการเตรียมพร้อมมาน้อยมักจะประสบปัญหาในการเรียน ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานถือเป็นระดับการศึกษาที่สำคัญต่อการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา กรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า หากผู้เรียนไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างดีมาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาจจะเกิดปัญหา ดังนี้
นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเรียนพิเศษเพิ่มเติม
การเรียนพิเศษของเด็กมัธยมในประเทศไทยเป็นสิ่งที่เห็นกันจนชินตา แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะเห็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศอังกฤษจะหันมาเรียนพิเศษในสถาบันสอนพิเศษเช่นกัน
สถาบันสอนพิเศษอัลฟา ติวเตอร์ (Alpa Tutors) ซึ่งเป็นสถาบันสอนพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษได้เปิดเผยข้อมูลว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมามีนักศึกษาปริญญาตรี เข้าใช้บริการสถาบันเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เฉพาะในปี ค.ศ.2007 มีถึง 3 พันคน เช่นเดียวกับสถาบันสอนพิเศษฟลีท ติวเตอร์ (Fleet Tutors) สถาบันสอนพิเศษที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.2007 มีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า มิเลน เคอร์ติส (Mylene Curtis) กรรมการผู้จัดการสถาบันสอนพิเศษฟลีท ติวเตอร์กล่าวว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ ต้องการให้สถาบันสอนเพิ่มเติมในสิ่งที่ไม่ได้รับการสอนมาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งวิชาที่เปิดสอน อาทิ การบัญชี การเงินและการธนาคาร การตลาด เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สังคมศาสตร์ กฎหมาย ศิลปะ การละคร การออกแบบ อิเล็กทรอนิกส์ ไอทีและคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ วารสารและสื่อสารมวลชน อาหารและเทคโนโลยีอาหาร ฯลฯ
นักวิชาการในอังกฤษหลายท่านได้วิเคราะห์สาเหตุที่นักศึกษาปริญญาตรี ต้องพึ่งสถาบันสอนพิเศษไว้สรุปได้ว่า เกิดจากการที่นักศึกษาไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้ามาศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่ต้องพึ่งสถาบันสอนพิเศษจึงเสียเปรียบ เพราะไม่เพียงต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเรียนพิเศษเพิ่มเติมอีกด้วย
รัฐบาลและมหาวิทยาลัยต้องเพิ่มงบประมาณช่วยนักศึกษาที่ประสบปัญหาการเรียน
ไม่เพียงนักศึกษาที่จะต้องเสียเปรียบ จากการไม่ได้รับการเตรียมพร้อมที่ดีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ขณะเดียวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาเหตุดังกล่าวเช่นกันคือ รัฐบาลและมหาวิทยาลัย โดยช่วงปี ค.ศ.2008-2009 มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ จะได้รับงบประมาณจากสภาจัดสรรงบประมาณอุดมศึกษาแห่งอังกฤษ (Higher Education Funding Council for England: HEFCE) เป็นจำนวน 364 ล้านปอนด์ แต่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องแบ่งงบประมาณที่ได้รับบางส่วนไปช่วยเหลือนักศึกษาที่อยู่ในกลุ่มผลการเรียนต่ำ และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สำเร็จการศึกษา อีกทั้ง แต่ละปีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมการศึกษาประมาณ 20 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำ
ข้อเสนอจากนักวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหา
นักวิชาการด้านการศึกษาในอังกฤษมองว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานมีส่วนกำหนดความสำเร็จในการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งยังช่วยลดการสูญเสียงบประมาณไปกับการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาในการเรียน ศ.กอร์ดอน มาร์เชลล์ (Gordon Marshall) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง (University of Reading) ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Times Higher Education ไว้ว่า หากรัฐบาลหันมาจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานมากขึ้น สิ่งที่จะได้กลับมาคือ งบประมาณของมหาวิทยาลัยจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักศึกษาเรียนอ่อนมีจำนวนลดลง มหาวิทยาลัยจึงไม่สูญเสียงบประมาณไปกับนักศึกษากลุ่มนี้มากนัก บิล แรมเมลล์ (Bill Rammell) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และทักษะ (Departmentfor Innovation, University and Skills) กล่าวว่า รัฐบาลมีโครงการ Aimhigher เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีส่วนช่วยเหลือโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ความเข้าใจแก่นักเรียนทุกเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เดวิด วิลเลทท์ (David Willetts)
หากศึกษากรณีตัวอย่างของประเทศอังกฤษข้างต้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้จัดการศึกษาไทย ผมเห็นว่า ปัจจุบันปัญหาการเรียนเพิ่มเติมหรือกวดวิชาระดับอุดมศึกษา มีจำนวนไม่น้อยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข เพราะจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้เรียน มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ประการสำคัญ การผลิตกำลังคนที่ไม่มีคุณภาพสู่สังคม นับเป็นการสูญเสียทางทรัพยากร และอาจส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการที่รับผู้เรียนเข้าทำงานด้วย
ดังนั้น จึงจำเป็นที่การศึกษาระดับขั้นพื้นฐานต้องมีคุณภาพ ไม่ปล่อยให้เด็กจบหากผู้เรียนไม่สามารถสอบผ่าน ต้องเข้มงวดเรื่องการสอบ อีกทั้งมีผู้เรียนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งแต่การกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย ที่เน้นการเก็งข้อสอบ การสอนทางเทคนิค แต่กลับไม่ได้รับองค์ความรู้หรือเนื้อหาที่เป็นแก่นแท้ของวิชาการในวิชานั้น ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ
ปัญหานี้มีหลายฝ่ายที่ต้องร่วมมือประสานกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานและเน้นสร้างให้เด็กรักการเรียนรู้ ส่วนพ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องไม่กดดันและคาดหวัง รวมถึงอัดการกวดวิชา จนเด็กไม่มีความสุขในการเรียน และที่สำคัญผมเห็นว่า การศึกษาไทยควรสร้างคนให้เป็น ldquo;คนที่สมบูรณ์rdquo; เป็นการศึกษาเพื่อชีวา คือ การศึกษาที่สร้างคนให้เข้าใจคุณค่าของชีวิตและความเป็นมนุษย์ และเป็นการศึกษาเพื่อปวงประชา คือ การศึกษาเพื่อสร้างคนให้นำความรู้ความสามารถที่ได้จากการศึกษาไปสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม ทั้งชุมชน สังคม และประเทศ ตลอดจนมนุษยชาติในโลก
* นำมาจากนิตยสารการศึกษาวันนี้ ฉบับวันพฤหัสบดีที่22 ndash;วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-06-02