ส่งเสริมจีนศึกษาเพื่อพัฒนาความร่วมมือไทย-จีน



ที่มาของภาพ lt;http://www.fresno.k12.ca.us/divdept/sscience/images/greatWall.1.jpggt;
เมื่อไม่นานนี้ ผมได้รับเชิญไปบรรยายให้กับหอการค้าไทย-จีน ในหัวข้อเรื่อง ldquo;ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนเพื่อการพัฒนาประเทศrdquo; ซึ่งแม้ไทยและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเพียง 33 ปี แต่ความสัมพันธ์ของสองประเทศอยู่ในระดับที่ดี และมีความร่วมมือกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนมีมาอย่างเนิ่นนานแล้ว เนื่องจากคนไทยถึงร้อยละ 10 มีเชื้อสายจีน
ความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของจีนยังทำให้จีนมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น โดยถือเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย ทั้งนี้ในปี 2550 ไทยมีมูลค่าการค้าขายกับจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.62 ของการค้าทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.12 ในปี 2545 หรือคิดเป็นการขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 36.44 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้น มีปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไทยและจีนไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความร่วมมือกัน หรือยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากช่องว่างหรือโอกาสที่มีอยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยและจีนควรพัฒนาความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น
ปัญหาสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างไทย-จีน คือ การขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีน ทั้งระดับภาพรวมและระดับท้องถิ่น และไทยยังขาดบุคลากรที่มีความรู้เรื่องจีนอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญภาษาและจีนศึกษา
แม้ที่ผ่านมา มีความพยายามศึกษาเรื่องจีนกันมากขึ้น โดยการจัดตั้งสถาบันจีนศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย และมีสถาบันที่สอนภาษาจีนเป็นจำนวนมาก แต่คุณภาพของการเรียนการสอนภาษาจีนและจีนศึกษายังมีปัญหา เนื่องจากขาดครูสอนภาษาจีนที่มีคุณภาพ ขาดมาตรฐานด้านหลักสูตร และขาดทิศทางการสนับสนุนการศึกษาวิจัยเรื่องจีนอย่างเป็นระบบ
ผมจึงมีข้อเสนอการส่งเสริมจีนศึกษา ดังนี้
สร้างมหาวิทยาลัยเชี่ยวชาญจีนศึกษา
การศึกษาเรื่องจีนของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นแบบต่างคนต่างทำ เช่น สถาบันบางแห่งเน้นศึกษาด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบางแห่งเน้นการศึกษาการแพทย์แผนจีน เป็นต้น ซึ่งแม้จะเป็นการศึกษาในด้านที่แต่ละสถาบันเชี่ยวชาญ แต่อาจทำให้ขาดองค์ความรู้เรื่องจีนอย่างครบวงจร
ผมเห็นว่า รัฐบาลควรให้การสนับสนุนจีนศึกษา โดยการเลือกมหาวิทยาลัยหนึ่งแห่งเพื่อพัฒนาให้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเน้นการเรียนการสอนและการวิจัยที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ในการศึกษาเรื่องจีน เช่น คณะรัฐศาสตร์เน้นศึกษาการเมืองจีน คณะเศรษฐศาสตร์เน้นศึกษาเศรษฐกิจจีน คณะบริหารธุรกิจเน้นศึกษาการทำธุรกิจในประเทศจีน คณะแพทย์ศาสตร์ให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนจีน คณะอักษรศาสตร์ให้ความสำคัญกับภาษาจีน เป็นต้น
พัฒนามาตรฐานหลักสูตรภาษาจีน
ถึงแม้ว่าคนไทยมีความตื่นตัวในการเรียนภาษาจีนมากขึ้น แต่การเรียนภาษาจีนในประเทศไทยยังขาดคุณภาพมาตรฐาน ผมเสนอว่าควรมีการพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับต่าง ๆ โดยขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน ทั้งในประเทศไทยและจากประเทศจีนให้มาร่วมกันจัดทำมาตรฐานการเรียนการสอน การจัดทำหลักสูตร และสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพครูสอนภาษาจีน โดยจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนให้ครูภาษาจีนมาสอนในไทยมากขึ้น การจัดตั้งสถาบันทดสอบภาษาจีนในรูปแบบเดียวกันกับโทเฟล (TOFEL) และการออกใบรับรองมาตรฐานแก่ครูสอนภาษาจีน
ส่งเสริมการศึกษาต่อต่างประเทศระหว่างไทย-จีน
ปัจจุบันมีคนไทยไปศึกษาในประเทศจีนมากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยในจีนหลายแห่งมีคุณภาพสูง ขณะที่คนจีนมาศึกษาในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบัน นักศึกษาจีนมาศึกษาต่อในไทยมากกว่าหนึ่งพันคน นับเป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการศึกษาไม่สูงนักเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หรือแม้แต่ออสเตรเลีย
การที่คนไทยไปศึกษาในประเทศจีน และคนจีนมาศึกษาในไทย นับเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องจีนและภาษาจีน เพราะคนไทยได้ไปศึกษาในบริบทจริงของประเทศจีน และได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้จากคนจีนที่เข้ามาศึกษาในไทยด้วย ตลอดจนสร้างเครือข่ายระหว่างคนไทยกับคนจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจในอนาคต และการสร้างความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป
ผมจึงเห็นว่า รัฐบาล ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยในไทย ควรส่งเสริมการศึกษาต่อระหว่างไทยและจีน อาทิ การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการศึกษาต่อในประเทศไทย เพื่อประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาจีนที่ต้องการเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย การจัดตั้งศูนย์บริการนักศึกษาจีนที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย การจับคู่มหาวิทยาลัยไทย-จีนและจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน การให้ทุนการศึกษาให้นักศึกษาจีนที่มีความสามารถพิเศษมาเรียนในไทย และการขอทุนหรือให้ทุนนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อในประเทศจีนมากขึ้น ฯลฯ
พัฒนาระบบฐานข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องจีน
ข้อมูลข่าวสารที่คนไทยได้รับในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ได้รับข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จากประเทศจีนน้อยมาก ทั้งที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับสองของไทย และมีมูลค่าการค้ามากกว่าสหรัฐฯและยุโรปเสียอีก
ผมจึงเสนอว่า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศควรร่วมมือกันในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลของจีนในประเทศไทย และข้อมูลของไทยในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างสื่อสารมวลชนของสองประเทศมากขึ้น และการแปลหนังสือภาษาจีนเป็นภาษาไทย ตลอดจนการปรับปรุงการรายงานและวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการรายงานภาวะเศรษฐกิจจีนมากขึ้น
ในสถานการณ์ที่จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของเอเชียหรือแม้แต่ของโลก และมีบทบาทและความสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้น น่าเสียดายที่มีคนไทยจำนวนน้อยมากที่เข้าใจภาษาจีนและเข้าใจเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีน การพัฒนาเกี่ยวกับการศึกษาภาษาจีนและจีนศึกษาในประเทศไทย จึงนับว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนไทยและประเทศไทยสามารถได้รับประโยชน์มากขึ้นจากประเทศจีน และสามารถแสวงหาช่องทางความร่วมมือที่ทำให้ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่29พฤษภาคม 2551
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-05-30