อย่าแอบอ้างประชาพิจารณ์ ?เทียม?

ผมได้เห็นประเด็นข่าวหนึ่ง ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวัน เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551 แม้ดูเหมือนเป็นข่าวเล็ก ๆ ไม่ได้เป็นข่าวพาดหัวแต่อย่างใด ทว่า..ประเด็นในข่าวนั้น สำคัญและควรแก่การกล่าวถึง เพราะสะท้อนนัยถึงการละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาท้องถิ่น โดยกล่าวถึงกลุ่มชาวบ้านที่เรียกตัวเองว่า ldquo;เครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพ ฯrdquo; ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านโครงการก่อสร้างรอดักตะกอนรูปตัวที หรือทีกรอยน์แบบไส้กรอกทราย
ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแถบบางขุนเทียน นับเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี แต่ที่ผ่านมา กลับไม่ได้รับความสนใจจาก กทม.ในการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จนถึงขณะนี้พื้นที่ชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ ถูกกัดเซาะหายไปนับเป็นพันไร่ กทม.เคยมีการนำหินไปถมทะเลแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และที่ผ่านมาชาวชุมชนละแวกนั้นได้ร่วมกับหลายองค์กรได้ทำแนวเขื่อนไม่ไผ่ขึ้นเพื่อชะลอการกัดเซาะซึ่งยังคงใช้งานได้ดีอยู่ และล่าสุด ทาง กทม.ได้ประกาศว่าจะสร้างโครงการก่อสร้างไส้กรอกทรายเพื่อเป็นแนวเขื่อนกั้นน้ำ โดยอ้างว่าได้มีการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านแล้ว
หลังจากกรณีการยื่นหนังสือครั้งนี้ ผมมองว่า การที่ชาวบ้านคัดค้านโครงการก่อสร้างไส้กรอกทรายนั้น มีนัยยะสำคัญที่ชาวบ้านต้องการจะสื่อถึงกทม. โดยตรง
ประการที่หนึ่ง ถ้ากทม.ทำประชาพิจารณ์ ชาวบ้านจะออกมายื่นหนังสือคัดค้านทำไม?
ความจริงชัดเจนว่า คณะผู้บริหารของ กทม. มิได้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในเรื่องการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา แม้ที่ผ่านมาจะมีการจัดสัมมนาเพื่อหาทางออก และมีที่ปรึกษาที่ศึกษาและนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา โดยเสนอแนวทางรูปแบบของการสร้างไส้กรอกทราย แต่ชาวบ้านกลับมองในทางตรงกันข้ามว่า หาก กทม. เลือกที่จะใช้ไส้กรอกทรายจะทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากมีกรณีตัวอย่างที่ไส้กรอกทรายแตก ที่แถวคลองด่าน จ.สมุทรปราการ สาเหตุที่ไส้กรอกทรายแตกเป็นเพราะ ในบริเวณชายฝั่งที่เป็นโคลนจะก่อให้เกิดปัญหาเพราะเวลาที่คลื่นมาปะทะจะเกิดการม้วนตัวของตะกอนแล้วจับเป็นตัวโคลนทำให้ไส้กรอกทรายที่ทับอยู่นั้นเกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันสุดท้ายแล้วมันมีการบิดและทำให้แตกหรือฉีกขาด
ในประเด็นนี้มีนักวิชาการออกมาประท้วงเรื่องการใช้ไส้กรอกทรายแต่ทางกทม. ยังคงยืนยันที่ทำตามคำแนะนำของที่ปรึกษา จนในที่สุดชาวบ้านต้องรวมตัวกันยื่นจดหมายให้กับทางผู้บริหารของกทม. เพื่อขอให้ทางกทม. เปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ไส้กรอกทรายมาเป็นการสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่นอย่างที่หมู่บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งการสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่นนั้นมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและดูแลรักษาได้ง่ายกว่าไส้กรอกทราย
ประการที่สอง การอ้างว่าได้ทำประชาพิจารณ์ แฝงวาระซ่อนเร้นหรือไม่?
ชาวบางขุนเทียนต้องการสื่อถึงกทม. ว่า โครงการที่กทม. จะดำเนินการเป็นโครงการที่มิได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์อย่างแท้จริงตามที่ กทม. กล่าวอ้าง เพราะหากมีการทำประชาพิจารณ์จริง จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ชาวบ้านมาเรียกร้องให้ระงับการดำเนินโครงการก่อสร้างไส้กรอกทราย
กทม.อ้างว่าในเรื่องนี้ได้เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชน ldquo;โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนrdquo; โดยดำเนินการสัมมนารับฟังความคิดเห็นไป 3 ครั้ง คือ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549, 26 กรกฎาคม 2549 และ 15 มีนาคม 2550 แต่จากการที่ทีมงานของผมได้ลงสำรวจในพื้นที่ดังกล่าวและได้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน กลับพบว่าชาวบ้านยังไม่ทราบข้อสรุปของการสัมมนาว่าข้อสรุปที่ได้คืออะไรและกังวลว่าสิ่งที่กทม.กล่าวอ้างถึงการเห็นด้วยกับโครงการโดยผ่านการทำประชาพิจารณ์ คือ ลายเซ็นของประชาชนที่เซ็นตอนเข้าร่วมการสัมมนาสิ่งนี้จะเรียกว่าเป็นประชาพิจารณ์ได้จริงหรือ
จากกรณีการเรียกร้องของชาวบ้านชายทะเลบางขุนเทียน สะท้อนความจริงว่า การทำประชาพิจารณ์ของกทม.ไม่ได้ดำเนินการอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ทั้งการดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทำเพียงฉาบฉวย ไม่ได้ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหาข้อสรุปเพื่อแก้ไขปัญหาที่ประชาชนได้รับอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่หากกทม.ต้องการทำประชาพิจารณ์ที่ประชาชนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น กทม. ควรที่จะจัดทำเวทีสัมมนาในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าร่วมได้ และจะต้องมีข้อสรุปให้ประชาชนรับรู้เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการดำเนินการตามข้อสรุปที่ได้ หากกทม. ดำเนินการเช่นนี้การออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อยับยั้งโครงการของกทม. คงไม่เกิดขึ้น
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า คณะผู้บริหารกทม. มองว่าการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และนำไปสู่ข้อสรุปสำหรับการแก้ปัญหา หรือเพียงกล่าวอ้างการทำประชาพิจารณ์ เป็นเพียง ldquo;การทำประชาพิจารณ์เทียมrdquo;เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน??
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2551

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-05-03